สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์


            วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2563) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” ณ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เฝ้า ฯ รับเสด็จ

            นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กราบบังคมทูลรายงานว่า โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เป็นสถานพยาบาลให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคจิตและโรคประสาท ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งที่ 2 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2508 ต่อมาในปีพุทธศักราช 2546 ได้รับประทานนามจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์                     

           ในปีงบประมาณ 2555 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน ๘๕ ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน รองรับผู้ป่วยทางจิตที่จำเป็นต้องพักรักษาในโรงพยาบาลซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2558 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามอาคารว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ประดับที่ป้ายอาคารดังกล่าว

             อาคารเฉลิมพระเกียรติ เป็นอาคาร 5 ชั้น  ชั้นที่ 1 เป็นศูนย์รักษาด้วยไฟฟ้า และห้องยาผู้ป่วยใน ชั้นที่ 2 เป็นหอผู้ป่วยหญิงพุทธรักษา ชั้นที่ 3 เป็นหอผู้ป่วยชายพวงชมพู ชั้นที่ 4 เป็นหอผู้ป่วยชายชัยพฤกษ์ และชั้นที่ 5 เป็นหอผู้ป่วยพิเศษราชาวดี และห้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเดินหายใจเป็นการเฉพาะ

         ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการใต้ร่มพระบารมี สุขภาพจิตดีวิถีแห่งความสุข อาทิ โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วัน เพื่อดูแลสุขภาพเด็กไทย อย่างต่อเนื่องโดยบูรณาการงานการเฝ้าระวังส่งเสริมพัฒนาการให้สมวัย, การใช้เทคโนโลยีรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า โรคไมเกรน  โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือทีเอ็มเอส (Transcranial Magnetic Stimulation : TMS), การรักษาผู้ป่วยด้วยไฟฟ้าหรืออีซีที ( Electric Convulsive Therapy : ECT) การบริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน และ Smart Hospital เป็นต้น

          ปัจจุบัน โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ให้บริการบำบัดรักษา ส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่อยู่ในเขตสาธารณสุขที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีเตียงรองรับผู้ป่วยจิตเวช 270 เตียง มีบุคลากร 370 คน ได้ปรับโฉมระบบบริการด่านหน้า โดยนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ให้บริการผู้ป่วยนอก จัดบรรยากาศสิ่งแวดล้อมสวยงาม อบอุ่น ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ให้บริการดุจญาติมิตร ให้บุคลากรทุกระดับมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน เกิดความพึงพอใจ และสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข

                ในปีงบประมาณ 2562 ผู้ป่วยใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอก 82,344 ราย เฉลี่ยวันละ 341 ราย ร้อยละ 96 เป็นผู้ป่วยรายเก่า มีผู้ป่วยพักรักษาตัวที่แผนกผู้ป่วยในจำนวน 3,763 ราย เฉลี่ยวันละ 284 ราย โรคที่พบมาก อันดับ 1 โรคจิตเภท (Schizophrenia) ร้อยละ 46 รองลงมาคือ โรคซึมเศร้า(Depression) ร้อยละ 8 และโรคอารมณ์ 2 ขั้ว (Bipolar) ร้อยละ 7 จะมีระบบติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเพื่อดูแลให้กินยาอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการป่วยซ้ำ ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตดีอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุข

************************************* 9 พฤศจิกายน 2563


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 9 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13:53 น.