ระบบสาธารณสุขไทย พร้อมรับระลอกใหม่


         กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมการแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย (Uhosnet) กลาโหม ตำรวจ กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลเอกชน เตรียมระบบบริหารจัดการพร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19” รองรับระลอกใหม่

              วันนี้ (11 กันยายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  พร้อมด้วยรศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และนายแพทย์ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมกันแถลงข่าว “การบริหารจัดการการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19” รองรับระลอกใหม่

       นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า ในเรื่องมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้ทำงานเชิงรุก ล่วงหน้ามากกว่าสถานการณ์จริงไปอีกหนึ่งขั้น เช่นหากพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย ให้เตรียมสำหรับ 10 ราย, 100 ราย กรมการแพทย์ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย (Uhosnet) กลาโหม ตำรวจ กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลเอกชน เตรียมระบบบริหารจัดการในภาพรวม เฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล เตรียมสถานพยาบาล จัดทำแนวทางการรักษา ยาและเวชภัณฑ์ ระบบบริหารเตียง และให้บริการผู้ป่วยโรคอื่น ๆ

           ในการบริหารจัดการเตียง มีโรงพยาบาลราชวิถีเป็นผู้ดูแลระบบในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเตียงทั้งภาครัฐและเอกชน 2,532 เตียง รองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ 230 รายต่อวัน ส่วนสถานพยาบาลทั่วประเทศรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้วันละ 1,000 ราย มีการเฝ้าระวังการติดเชื้อของบุคลากรในโรงพยาบาล คัดกรอง แยกผู้ป่วยไข้หวัดไม่ปะปนกับผู้ป่วยอื่น จัดตั้ง ARI clinic จัดเตรียมห้องแยกความดันลบ หอผู้ป่วยสามัญเฉพาะผู้ป่วยโควิด (Cohort ward) นอกจากนี้ นับเป็นครั้งแรกในโลกที่นำโรงแรมมาเป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) ขณะนี้ได้ปิดกิจการไปเนื่องจากไม่มีผู้ป่วย ขยายหอผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน จัดระบบป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ทั้งห้องตรวจ/ ห้องทันตกรรมความดันลบ  ได้ปรับปรุงแนวทางการรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการจัดการยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกัน ชุด PPE. องค์การเภสัชกรรม อย. และสปสช. ส่งให้บริหารจัดการโดยเขตสุขภาพ สำหรับ กทม. บริหารจัดการรองรับ 4 มุมเมือง โดยรพ.จุฬาฯ, รามาธิบดี, ศิริราช และกรมการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมสถานที่แยกพระสงฆ์ที่มีความเสี่ยงอย่างถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย

         นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ในการบริหารจัดการหากเกิดการระบาดและรอบ 2 จะไม่กระทบการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วยระบบบริการการแพทย์วิถีชีวิตใหม่ (New Normal medical service) อาทิ ระบบการแพทย์ทางไกล การรับยาที่บ้าน/รับยาร้านยาใกล้บ้าน รวมทั้งการให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่บ้าน มีแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ในการให้บริการที่บ้าน ป้องกันการติดเชื้อในทุกแผนกบริการ เช่น การใช้ห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทันตกรรม ทำฟัน ผู้ป่วยนอก/ใน  ผู้ป่วยกายภาพบำบัด

        “ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกได้กล่าวว่า การต่อสู้กับการระบาดนั้น ขอให้สู้ด้วยความจริงไม่ใช่ความกลัว คือต้องมีสติ  ใช้วิทยาศาสตร์อย่าฟังข่าวลือ การสื่อสารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และสุดท้ายคือ ต้องสามัคคี อย่ากล่าวโทษกัน จึงขอความร่วมมือประชาชนตั้งการ์ดป้องกันโรค ปฏิบัติตนเช่นที่เคยทำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ไทยพบผู้ป่วยจำนวนน้อยกว่าที่คาดการณ์” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว

        ด้านรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนแพทย์ 23 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทุกแห่งทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ต่อสู้กับโรคโควิด 19 ด้วยการเพิ่มศักยภาพการตรวจโรครักษาผู้ป่วย โดยทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ อาทิ วิศวกร ภาคเอกชน พัฒนาห้องความดันลบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มศักยภาพการรักษาผู้ป่วยโควิดที่ยุ่งยากซับซ้อน ร่วมกับกรมการแพทย์เตรียมสำรองห้องสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ ในโรงเรียนแพทย์ 4 มุมเมือง ได้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลสูงอายุบางขุนเทียน, โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กว่า 100 ยูนิต รวมถึงระดมสมองจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ คิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด อาทิ การทำลายเชื้อเพื่อนำหน้ากาก N95 มาใช้ซ้ำ หน้ากาก silicone mask N99  หน้ากากแรงดันบวก ชุด PPE. รถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสื่อสาร เพิ่มความสะดวกในการดูแลรักษาผู้ป่วย และความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร

         นายแพทย์ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า หลังจากที่มีเคสแรกเมื่อเดือนมีนาคม ได้ปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยน และเตรียมการด้านต่างๆ เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 โดยสามารถรองรับในเขตกรุงเทพและปริมณฑลได้ถึงร้อยละ 43 แม้ในช่วงแรกมีอุปกรณ์จำกัดต้องดำเนินการด้วยตนเอง แต่ภายหลังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น ห้องแยกโรคความดันลบ ห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อทางอากาศ และห้องไอซียู รวมถึงห้องปฏิบัติการทั่วประเทศที่มี 224 แห่ง ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการภาคเอกชนจำนวน 71 แห่งครอบคลุมทั้งกรุงเทพ ปริมณฑล นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนยังได้ดำเนินการร่วมกับสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine) ในการดูแลด้านผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้หากมีการระบาดระลอก 2 โรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมเพราะมีประสบการณ์ และหากประชาชนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองเช่นที่ผ่านมา จะทำให้มีความเสี่ยงต่ำในการแพร่กระจายของโรค ส่งผลให้ ทรัพยากรมีเพียงพอสำหรับดูแลรักษาผู้ติดเชื้อได้

 ***********************************  11 กันยายน 2563


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 11 กันยายน 2563 เวลา 17:24 น.