รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563


รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  

ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563

1.สถานการณ์ ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ณ เวลา 08.00 น.        

1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 20 ราย กลับบ้านแล้ว 15 ราย รวมสะสม 35 ราย

2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 16 กุมภาพันธ์ 2563

มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 837 ราย คัดกรองจากสนามบิน 55 ราย มารับการรักษา
ที่โรงพยาบาลเอง 782 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 703 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 134 ราย

3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 27 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 17 กุมภาพันธ์ 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน71,242 ราย เสียชีวิต 1,770 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย
70,461 ราย เสียชีวิต 1,765 ราย

4. ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนทั่วไปขอให้สวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่สะอาด เมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก สำหรับผู้ป่วยและผู้ที่มีอาการ ไอ จาม ควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สำหรับหน้ากากอนามัยประเภท N95 จะใช้
ในเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

2.สธ.รายงานผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 1 รายเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน

กระทรวงสาธารณสุข รายงานผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 1 รายเป็นนักท่องเที่ยวหญิง
ชาวจีน เพิ่มการเฝ้าระวังคัดกรองใน 3 กลุ่ม

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะแถลงความคืบหน้าสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ 3 ฝ่าย ได้รายงานผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 1 รายเป็นนักท่องเที่ยวจีน เพศหญิงอายุ 68 ปี ซึ่งเป็นผู้สัมผัสของผู้ป่วยยืนยันรายที่ 22 และอยู่ระหว่างการติดตามเฝ้าระวังมาตั้งแต่แรกอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบว่ามีไข้ ไอ จึงรับเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษา (เป็นผู้ป่วยรายที่ 4 ในครอบครัวเดียวกัน) นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 35 ของประเทศไทย

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายการเฝ้าระวังเพื่อให้สามารถค้นพบผู้ป่วยได้มากขึ้น ใน 3 กลุ่ม ดังนี้
1.ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ และผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  2.เพิ่มการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และในโรงพยาบาล หากเป็นผู้เดินทางจากประเทศจีน ฮ่องกง มาเก๊า จีนไทเป  ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ และประเทศที่มีรายงานการระบาด รวมถึงระบาดในชุมชน 3.ในส่วนของโรงพยาบาลให้เพิ่มการเฝ้าระวังเป็นพิเศษกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีรายงานพบการแพร่เชื้อในชุมชนภายในประเทศนั้นๆ (local transmission)

เช้าวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้เครื่องบินส่วนตัวบินไปที่อำเภอแม่สอด แต่เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดีจึงได้บินกลับ และได้วิดีโอคอลกับทีมงานของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และทีมของจังหวัดตาก ทำความเข้าใจมาตรการการป้องกัน การควบคุมโรค
ที่แม่สอด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ทุกหน่วยงานร่วมมือในมาตรการป้องกันควบคุมโรค

สำหรับกรณีเรือสำราญ Westerdam เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง กระทรวงสาธารณสุขจึงมีมาตรการ 2 ส่วน 1.กรณีคนไทยกลับบ้านมีการดูแลติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่องจนครบ 14 วันตามมาตรฐานป้องกันควบคุมโรค หากจะเดินทางต่อมีการคัดกรองก่อนขึ้นเครื่องหากมีไข้ไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่อง และส่งเข้ารักษาตามระบบ 2.คนต่างชาติจะไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ ทั้งการต่อเครื่องและเปลี่ยนเครื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานกับสายการบิน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศและบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หากจำเป็นจะเดินทางเข้าประเทศไทย ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคของไทยอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ พร้อมแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ ตรวจคัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง และหากตรวจพบเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ไข้ ไอ จะถูกส่งเข้าระบบเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคของประเทศไทยทันที ทั้งนี้ การป้องกันควบคุมโรค กรณีคนบนเรือ westerdam ที่จะมาเมืองไทยเกิดขึ้น ภายหลังมีการยืนยันว่า มีคนบนเรือติดเชื้อ  COVID-19 แล้ว 1 ราย

ในด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เพิ่มศักยภาพและพัฒนาการตรวจด้วยชุดน้ำยาสำเร็จรูปแบบ real time RT-PCR รู้ผลเร็ว มีความแม่นยำสูง ในระยะต่อไปจะขยายไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปให้ตรวจวินิจฉัยเชื้อได้ นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงรับประเมินชุดน้ำยาสำเร็จรูปแบบ real time RT-PCR เพื่อขึ้นบัญชีชุดน้ำยาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เป็นข้อมูลช่วยให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รวมทั้งภาคเอกชน เลือกซื้อชุดน้ำยาสำหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีความแม่นยำสร้างความมั่นใจประชาชน

  โดยในวันนี้ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ถึงข้อสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้ 1.รณรงค์ให้ประชาชนหมั่นล้างมือ ใช้หน้ากากผ้า ทำความสะอาดจุดสัมผัสที่อาจเป็นจุดแพร่เชื้อโรค โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรถสาธารณะ และผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.จังหวัดที่มีท่าเทียบเรือ สนามบิน และช่องทางเข้าออกที่มีการเดินทางจากต่างประเทศ ให้ตั้งด่านควบคุมโรค คัดกรองผู้โดยสารและผู้ที่ผ่านช่องทางเข้าออกทุกราย โดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล เชียงใหม่ เชียงราย ชลบุรี กระบี่ และภูเก็ต บูรณาการบุคลากรในจังหวัด เขตสุขภาพ รวมถึงเขตสุขภาพใกล้เคียง ร่วมกับกรมควบคุมโรค

3.จัดหาเวชภัณฑ์ที่จำเป็น อาทิ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ชุดปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้พร้อมใช้  4.เตรียมทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรค ติดตามผู้สัมผัส รักษาพยาบาล ห้องแยกโรคชนิดต่างๆ และหอผู้ป่วยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ  5.ใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ขับเคลื่อนและสื่อสารแนวทางการคัดกรอง การรักษาพยาบาล ให้สถานพยาบาลเอกชนในจังหวัด  6.ดำเนินงานตามข้อสั่งการ อย่างเคร่งครัด และรายงานผลการดำเนินงาน

ส่วนที่ฐานทัพเรือสัตหีบ คนไทยกลับบ้านที่อาคารรับรองสัตหีบ จำนวน 137 คน ทุกคน ไม่มีไข้ และไม่มีผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคส่วนผู้ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชลบุรี 1 คน อาการปกติไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการเตรียมการก่อนที่จะอนุญาตให้กลับบ้านในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563

3. ผลการดำเนินงานที่ด่านควบคุมโรค

- ตั้งแต่วันที่ 3 – 23 มกราคม 2563 ได้เฝ้าระวังคัดกรองผู้โดยสารเที่ยวบินตรงจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563 ขยายเพิ่มที่ท่าอากาศยานเชียงราย และตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2563 – 15 กุมภาพันธ์ 2563 คัดกรองเที่ยวบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งขาเข้าและขาออกจากประเทศจีน สะสมทั้งสิ้น 827 เที่ยวบิน รวมคัดกรองผู้เดินทางและลูกเรือสะสม 70,377 ราย และคัดกรองสะสมเที่ยวบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งขาเข้าและขาออก 1,512,955 ราย ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเจ้าหน้าที่หมุนเวียนไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่ด่าน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง

- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ได้คัดกรองพื้นที่ ณ ท่าเรือ 5 แห่ง (กรุงเทพมหานคร ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ท่าเรือภูเก็ต และท่าเรือสมุย) มีผู้ได้รับการคัดกรองสะสมรวม 70,394 ราย และด่านพรมแดนทางบก 34 ด่าน มีผู้ได้รับการคัดกรองสะสม 466,698 ราย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งวัฒนะ 33,456 ราย

- นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้รับแจกคำแนะนำสุขภาพ (health beware card) จากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค

 

4.ข้อแนะนำประจำวันในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น และปฏิบัติตามคำแนะนำ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อย่างเคร่งครัด และหมั่นทำความสะอาด เช็ดถูบริเวณที่คนที่สัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟท์ ราวจับบนรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น

  *****************************   17 กุมภาพันธ์ 2563

*************************

 

 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 17 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 15:19 น.