มะเร็งป้องกันได้ คัดกรองเร็ว รู้เร็ว รักษาง่าย


โรคมะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยมาตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปี โรคมะเร็ง ไม่เพียงสร้างความทุกข์ทรมานกับตัวผู้ป่วย ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ป่วยเนื่องจากการดำเนินโรคและการรักษาใช้เวลาหลายเดือนถึงเป็นปี โดยเฉพาะหากพบโรคในระยะรุกลามแล้วการดูแลรักษาจะยุ่งยาก เกิดอาการแทรกซ้อนจากตัวโรคและผลข้างเคียงจากการรักษาได้มากขึ้น เมื่อการรักษายุ่งยากซับซ้อนขึ้นจึงจำเป็นต้องใช้ยาและอุปกรณ์ราคาแพงขึ้นในการรักษา ต้องใช้คนดูแลมากขึ้นโดยเฉพาะคนในครอบครัว จึงส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกด้วย

 

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและอัตราการเกิดโรคยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัย ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีโอกาสเกิดมะเร็งมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของคน และ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดมะเร็งมากขึ้น จากข้อมูลสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่าแต่ละปีจะมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน หรือคิดเป็นประมาณ 400 คนต่อวัน โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก

 

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งมีทั้งปัจจัยภายในร่างกาย เช่น พันธุกรรมมีสัดส่วนเพียง 5-10% และปัจจัยภายนอกร่างกายประมาณ 90-95% ได้แก่ พฤติกรรมการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง รวมไปถึงการได้รับสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงจะทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ ซึ่งอาจลดลงได้ถึง 40%

นอกจากนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่ามะเร็งบางชนิดสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง โรคมะเร็งระยะแรกเป็นระยะที่เซลล์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นเซลล์มะเร็งแต่ยังไม่มีการลุกลามเข้าไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใกล้เคียง ถ้าตรวจพบในระยะเริ่มแรกเช่นนี้การรักษามักจะไม่ยุ่งยากซับซ้อน ผลข้างเคียงจากตัวโรคและการรักษาน้อย และ โอกาสหายขาดสูง องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มแรกถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการใด ๆ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการตรวจคัดกรองค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก    จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันนโยบายการคัดกรองโรคมะเร็งเพื่อให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้ารับการคัดกรองได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ควบคู่ไปกับการจัดทำสื่อความรู้สำหรับประชาชนและการจัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและคัดกรองโรคมะเร็งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการดำเนินโครงการคัดกรองโรคมะเร็งระดับประชากร ได้แก่

 

 

มะเร็งปากมดลูก  

การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระดับชาติ ทำการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการตรวจหาเชื้อ HPV (HPV test) ซึ่งเป็นวิธีที่มีความไวในการตรวจมากกว่าวิธี PAP smear เดิม ในสตรีกลุ่มอายุ 30-60 ปี ทั้งแบบเก็บสิ่งส่งตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ และ เก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (ซึ่งสามารถไปเก็บในห้องน้ำด้วยตนเองที่สถานพยาบาลหรือที่บ้านแล้วนำมาส่งให้เจ้าหน้าที่) โดยสามารถขอรับบริการได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเช่น โรงพยาบาล หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกสิทธิ์การรักษา เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแล้ว

มะเร็งเต้านม

การรณรงค์ให้สตรีไทยตรวจเต้านมด้วยตนเองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2556 ได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (breast self-examination: BSE) การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ (clinical breast examination: CBE) และการตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammography: MM) แนวทางการคัดกรองที่มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมได้ คือวิธีการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและผลักดันให้เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ

อย่างไรก็ดีปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมสามารถตรวจหายีนผิดปกติ (BRCA 1 และ BRCA 2) ที่อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และ เมื่อพบความผิดปกติสามารถให้ญาติสายตรงมาตรวจว่ามียีนผิดปกติดังกล่าวหรือไม่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกันเนื่องจากอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแล้ว เพื่อที่จะสามารถวางแผนป้องกันและติดตามต่อไป ซึ่งสามารถขอรับบริการตรวจยีนดังกล่าวได้ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รพ.มะเร็งภูมิภาค และ รพ.ศูนย์ประจำเขตสุขภาพ เป็นต้น

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

โครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ทำการตรวจคัดกรองประชาชนอายุ 50-70 ปี โดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระด้วยวิธี FIT Test ทุกๆ 2 ปี ประชาชนสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหากพบผลผิดปกติก็จะวินิจฉัยโรคด้วยการส่องกล้องต่อไป

และเมื่อคัดกรองและได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งแล้วก็สามารถเข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีใบส่งตัว ใน รพ.ที่รักษาโรคมะเร็งในเครือข่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่า 190 แห่งทั่วประเทศ ผ่านทางโครงการ Cancer Anywhere ตามนโยบายของของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันใช้ได้กับผู้ป่วยสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

 

ติดตามความรู้ข่าวสารด้านโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง http://allaboutcancer.nci.go.th/ เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ และ Line : NCIรู้สู้มะเร็ง

 

- ขอขอบคุณ –

9 ธันวาคม 2565


จากหน่วยงาน : กรมการแพทย์ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 9 ธันวาคม 2565 เวลา 20:46 น.