อย. ชี้แจง มีการกำกับดูแลเครื่องสำอางให้มีคุณภาพและปลอดภัย ก่อนถึงมือผู้บริโภค


     อย. แจงขั้นตอนการรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มีการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งก่อนและหลังออกสู่ตลาด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

     จากกรณีที่มีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าเป็นช่องโหว่ให้มีผลิตภัณฑ์อันตรายนั้น เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า กระบวนการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับอาเซียนและยุโรป ก่อนการยื่นจดแจ้งผลิตภัณฑ์ผู้ประกอบการต้องยื่นขอสถานที่ผลิตและนำเข้า เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงจะสามารถยื่นจดแจ้งได้ และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อย. ได้กำหนดให้การจดแจ้งผลิตภัณฑ์ต้องแจ้งสูตรส่วนประกอบของสารทุกรายการ เพื่อตรวจสอบว่าสารที่ใช้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด  ในส่วนภูมิภาค อย. ได้มอบอำนาจให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจสถานที่ผลิต/นำเข้าก่อนการยื่นจดแจ้ง และสามารถเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางหากพบการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงมีการมอบอำนาจให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด โดยมีอำนาจในการตรวจสถานที่ผลิต/นำเข้า การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องสำอางอันตรายเพื่อให้ส่วนกลางประกาศผลการตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอางอีกด้วย

     สำหรับกรณีมีข่าวองค์กรภาคประชาชนประเทศฟิลิปปินส์อ้างว่าตรวจพบเครื่องสำอางไทย 8 ยี่ห้อ ลักลอบขายทางออนไลน์และทั้งหมดเป็นเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายอย่างถูกต้อง มีสารปรอทเจือปนสูงกว่ามาตรฐานหลายหมื่นเท่า อย. ตรวจสอบแล้วไม่พบการจดแจ้งเครื่องสำอางทั้ง 8 ยี่ห้อในข่าว จัดเป็นเครื่องสำอางเถื่อน การให้ข่าวว่าการรับจดแจ้งเครื่องสำอางของ อย. เป็นช่องโหว่ให้เกิดเครื่องสำอางอันตรายจึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

     รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำผู้บริโภคควรเลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบฉลาก แสดงเลขที่ใบรับจดแจ้ง ชื่อผลิตภัณฑ์และชื่อทางการค้า ประเภทหรือชนิดของผลิตภัณฑ์ ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ คำเตือน และปฏิบัติตามที่ระบุบนฉลาก กรณีมีข้อความไม่ครบถ้วน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้รับจ้างผลิต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามข้อมูลหรือร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

วันที่เผยแพร่ข่าว 22 พฤศจิกายน 2565  ข่าวแจก 31 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566


จากหน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 14:10 น.