สบยช. เผย “CBTx” กระบวนการบำบัดฟื้นฟูที่สามารถทำได้ในชุมชน พร้อมให้ข้อมูลและคำปรึกษา ผ่านสายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165


กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เผย “การบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน  หรือ Community Based Treatment หรือ CBTx”  เป็นกระบวนการบำบัดฟื้นฟูที่สามารถทำได้ในชุมชน ดูแลกลุ่มผู้ใช้และผู้เสพ ในกรณีเป็นผู้ติดมีปัญหาด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ต้องส่งต่อสถานพยาบาล เพื่อการดูแลอย่างเหมาะสมตามสภาพปัญหาของผู้ป่วย

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า  ในปัจจุบันการติดยาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยสาเหตุของการใช้ยาเสพติดเป็นผลมาจากองค์ประกอบหลายด้าน เช่น ปัญหาด้านจิตใจ การเลี้ยงดู สภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ขาดการศึกษา ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุให้เยาวชนเข้าสู่ปัญหายาเสพติด บางรายเกิดอาการทางจิต ทางประสาท อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสังคม ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยยาเสพติด เริ่มจากการค้นหาและนำเข้าสู่การบำบัดรักษาตามรูปแบบที่รัฐกำหนดไว้ เช่น การบำบัดโดยสถานพยาบาล การบังคับบำบัดในศูนย์ฟื้นฟู การบำบัดในเรือนจำ เป็นต้น แต่การบำบัดดังกล่าว เป็นการบำบัดที่เน้นตัวผู้ป่วยที่ต้องรับผิดชอบแก้ไขตนเอง ทั้งนี้การเสพติดเป็นโรคเรื้อรัง หรือโรค "สมองติดยา"
ผู้ติดมีโอกาสกลับมาเสพติดซ้ำ เมื่อผู้ป่วยกลับไปสู่สภาพแวดล้อมเดิม ประสบปัญหาเดิมๆ ในชีวิต ก็อาจกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำได้อีก
การบำบัดรักษาจึงไม่สามารถใช้การแพทย์แต่เพียงอย่างเดียวแต่ต้องควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านสังคมของผู้ป่วย  “การบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน  หรือ Community Based Treatment หรือ CBTx”  เป็นกระบวนการบำบัดฟื้นฟูที่สามารถทำได้ในชุมชน เป็นการแก้ไขปัญหาจากสาเหตุ กลไก และผลกระทบของปัญหายาเสพติด โดยคนในครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มศักยภาพ เชื่อมโยงกับหน่วยบริการสาธารณสุขในชุมชน ภาคประชาสังคมและหน่วยงานสนับสนุนต่างๆซึ่งมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลร่วมดูแล ในปัจจุบันมีชุมชนที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเกิดผลสัมฤทธิ์ และสามารถเป็นต้นแบบแนวปฏิบัติในทุกภาค และมีนโยบายจุดเน้นในการส่งเสริม สนับสนุน เพิ่มขยายพื้นที่ดำเนินการให้ครอบคลุมหมู่บ้านและ ชุมชนที่มีปัญหาทั่วประเทศ 

                นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการคัดกรองผู้เสพสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ "ผู้ใช้" คือใช้ยาเสพติดเป็นครั้งคราว "ผู้เสพ" คือติดใจในการเสพ มีความสุขเมื่อเสพ และมีแนวโน้มเสพบ่อยขึ้น และ"ผู้ติด" ที่หมกมุ่นในการเสพ มีอาการเมายา ส่งผลต่อการเรียนหรือ
การทำงาน
โดยในกรณีที่คัดกรองแล้วเป็น “ผู้ใช้ และผู้เสพ” สามารถให้การดูแลแบบ “การบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือ Community Based Treatment หรือ CBTx ได้ จากข้อมูลผู้ป่วยยาเสพติด พบว่าผู้ใช้ยาเสพติดจำนวนมากสามารถเลิกยาได้เองหรือได้รับการช่วยเหลือจากครอบครัว ชุมชน ในการชี้แนะแนวทาง สนับสนุนช่วยเหลือให้สามารถใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานในชุมชน ก็สามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ในกรณีที่คัดกรองแล้วเป็นผู้ติด มีปัญหาด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต หรือ การติดยาเสพติดที่รุนแรงมากเกินความสามารถที่ชุมชนจะดูแลได้ ต้องส่งต่อไปยังสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ หรือ ปรึกษาหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานอำเภอ จังหวัด พัฒนาสังคม หรือ สถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ได้ที่ สายด่วนรับแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 กรณีพบผู้ติดยาเสพติดมีภาวะฉุกเฉิน เช่น ชัก หมดสติ  สายด่วนเหตุด่วนเหตุร้าย 191 กรณีพบผู้ติดยาเสพติด หรือจิตเวชที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรง ขอข้อมูลและคำปรึกษาด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 และสายด่วนเลิกยาเสพติด ผ่านศูนย์ดำรงธรรม 1567ตลอด 24 ชั่วโมง  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th

                                          *************************************************

          #กรมการแพทย์  #สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี #สบยช. # ยาเสพติด

                                                                                                   -ขอขอบคุณ-     20   พฤศจิกายน  2565


จากหน่วยงาน : กรมการแพทย์ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 21 พฤศจิกายน 2565 เวลา 12:02 น.