กรมควบคุมโรค รณรงค์วันโรคหลอดเลือดสมองโลก หรือวันอัมพาตโลก 2565 เน้นสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองให้กับประชาชน


          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันโรคหลอดเลือดสมองโลก หรือวันอัมพาตโลก ปี 2565 มุ่งเน้นเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองให้กับประชาชนตามหลักการ F.A.S.T และให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลฉุกเฉินอย่างทันท่วงที

          วันนี้ (28 ตุลาคม 2565) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization : WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันโรคหลอดเลือดสมองโลกหรือวันอัมพาตโลก (World Stroke Day) ประเด็นการรณรงค์ในปี 2565 นี้ คือ “Minutes can save lives: Learn the signs, Say it’s a stroke Save #Precioustime” มุ่งเน้นเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองให้กับประชาชนและให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลฉุกเฉินอย่างทันท่วงที เพราะทุก 1 นาทีที่เซลล์สมองขาดเลือดจะมีเซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ หากได้รับการรักษาช้าเซลล์สมองจะตายมากขึ้นนำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิตได้

          โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ของการเสียชีวิต และอันดับ 3 ของความพิการจากการสำรวจในปี 2562 ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 101 ล้านคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 12.2 ล้านคน (หรือมีผู้ป่วยรายใหม่ 1 คนในทุก 3 วินาที) และเสียชีวิต 6.5 ล้านคน จากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด 34,545 คน (อัตราตาย 53 ต่อประชากรแสนคน) แบ่งเป็น เพศชาย 19,949 คน (ร้อยละ 58) มากกว่าเพศหญิง 14,596 คน (ร้อยละ 42) ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 23,817 คน (ร้อยละ 69) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในแต่ละปีตั้งแต่ 2560-2564 พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 479, 534, 588 และ 645 ตามลำดับ เช่นเดียวกับอัตราตายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2560 - 2563 พบอัตราตายต่อประชากรแสนคนจากโรคหลอดเลือดสมอง เท่ากับ 48, 47, 53 และ 53 ตามลำดับ

          “ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและประเทศไทย โรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรียกกันว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือทางการแพทย์เรียกว่า STROKE เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงถึงขั้นเสียชีวิต และแม้ว่าจะไม่เสียชีวิตแต่ทำให้เกิดความพิการระยะยาว ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นตลอดชีวิต เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ ตัน หรือแตก ทำให้ขัดขวางการนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมอง ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย สูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาการสมองขาดเลือดจะเกิดแบบเฉียบพลัน มีอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนหรือขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบาก เดินเซ ปวดศีรษะมาก ตามัวมองเห็นไม่ชัด โดยอาการเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด” นายแพทย์ธเรศ กล่าว

          นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อแนะนำสำหรับประชาชนในการตระหนักรู้ถึงอาการหรือสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) ด้วยตนเองตามหลักการ F.A.S.T ดังนี้ F (Face) ใบหน้าชาหรืออ่อนแรง หน้าเบี้ยว มุมปากตกข้างหนึ่ง ตามัวเห็นภาพซ้อน  A (Arm) แขนหรือขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง ยกแขนหรือขาไม่ขึ้นหรือยกได้น้อยลง กำมือได้ลดลง ชาตามแขนขาหรือรู้สึกน้อยลง เดินเซ S (Speech) พูดลำบาก พูดไม่ชัด มึนงงสับสน และมีปัญหาในการพูด  T (Time) ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดทันทีหรืออย่างช้าคือภายใน 4 ชั่วโมง และโทรสายด่วน 1669  สิ่งสำคัญคือ หากพบอาการดังกล่าวข้างต้น แม้ไม่แน่ใจว่าเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ก็ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้รับการวินิจฉัย รักษาและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติมากที่สุด จะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้ ดังนั้น ขอเน้นว่าเร็วที่สุด ยิ่งรักษาเร็วจะมีโอกาสหายมาก ผลแทรกซ้อนต่ำ และความพิการน้อยลง

          นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองคือ ความผิดปกติของหัวใจ ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง ดัชนีมวลกาย (BMI)เกิน ระดับน้ำตาล ในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ การบริโภคอาหารไม่เหมาะสม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย และมลพิษทางอากาศ ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต โดยเริ่มตั้งแต่การตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เลิกสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ รับประทานผักและผลไม้ทุกวัน ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอและรักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

***************************

ข้อมูลจาก : กองโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 28 ตุลาคม 2565


จากหน่วยงาน : กรมควบคุมโรค เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 28 ตุลาคม 2565 เวลา 14:57 น.