กรมอนามัย แนะ เพิ่มความระมัดระวัง ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ไฟฟ้ารั่ว ไฟดูด ช่วงน้ำท่วม


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ให้เพิ่มความระมัดระวังอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หมั่นตรวจสอบความชำรุดเสียหาย ป้องกัน ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟฟ้ารั่ว ไฟดูดช่วงหน้าฝน และในภาวะน้ำท่วมขัง

            นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เกิดความเสี่ยงไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว และไฟฟ้าดูด เป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชน ตามที่ได้มีการ นำเสนอข่าวนั้น ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงและอยู่ในสภาวะน้ำท่วมบ้านเรือน เพิ่มความระมัดระวังในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยควรปฏิบัติ ดังนี้ 1) ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่อยู่ภายนอกอาคาร ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เช่น กริ่ง โคมไฟ ควรเลือกใช้อุปกรณ์ชนิดกันน้ำ รวมถึงติดตั้งสายดิน และเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่ว เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร 2) ห้ามใช้หรือสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น หรือยืนบนที่ชื้นแฉะ เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่ว จะได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูดได้ 3) เพิ่มความระมัดระวังในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบริเวณพื้นที่ชื้นแฉะเป็นพิเศษ เช่น ปั๊มน้ำ เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น เพื่อความปลอดภัย ควรสวมรองเท้าทุกครั้งขณะใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในบริเวณเปียกชื้น จะช่วยป้องกันไฟฟ้าดูด 4) กรณีน้ำท่วมบ้านให้ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดสวิตช์ไฟ ขนย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูงพ้นจากระดับที่น้ำท่วมถึง เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย และ 5) ไม่นำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมาใช้งานรวมทั้งไม่ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยตัวเอง เนื่องจากความไม่ชำนาญและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

                   นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง สามารถป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้าดูดได้ ด้วยการเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ภายนอกอาคาร ควรเลือกใช้แบบกันน้ำและมีฝาครอบป้องกันฝนสาดและน้ำรั่วซึม รวมทั้ง มีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าดูด อาทิ เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ เบรกเกอร์ควบคุมไฟ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโครงหรือวัสดุหุ้มเป็นโลหะ เช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น ไมโครเวฟ ตู้น้ำดื่ม เป็นต้น ควรติดตั้งสายดิน หากกระแสไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าจะไหลลงสู่พื้นดิน จึงช่วยป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูดได้                

                   “ทั้งนี้ การช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูด ให้รีบตัดกระแสไฟฟ้า โดยปิดสวิตช์ ปลดปลั๊กไฟ และสับคัตเอาท์ หากไม่สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้ ให้นำวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง หนังสือพิมพ์ เขี่ยสายไฟให้หลุด จากตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูด หรือใช้เชือกคล้อง และดันตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูดให้หลุดจากบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว  โดยผู้เข้าช่วยเหลือต้องยืนบนพื้นแห้ง และสวมรองเท้ายาง ห้ามใช้มือหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสผู้ถูกไฟฟ้าดูดในขณะที่ยังไม่ตัดกระแสไฟฟ้า รวมถึงห้ามช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูดในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น หรือยืนบนพื้นที่ชื้นแฉะ เพราะจะได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ถูกไฟฟ้าดูดนั้นหากคนที่ถูกไฟฟ้าดูดมีอาการหมดสติ และหัวใจหยุดเต้น ให้รีบโทรแจ้งหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669          หรือสถานพยาบาลใกล้เคียงทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 21 กันยายน  2565

 


จากหน่วยงาน : กรมอนามัย เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 21 กันยายน 2565 เวลา 15:31 น.