สธ. หนุน กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน หลังพบเด็กได้กินนมแม่ล้วน เพียงร้อยละ 14


วันนี้ (8 สิงหาคม 2565) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ในพิธีเปิดงานรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สัปดาห์นมแม่โลกในเดือนวันแม่แห่งชาติ ภายใต้แนวคิด “Step up for Breastfeeding, Educate and Support : เสริมพลัง สร้างความรู้ ก้าวสู่วิถีนมแม่” โดยมี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย Aarti Saihjee ผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็ก แห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNICEF) ผู้แทนบริษัท เอวเอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมงาน

            ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ ตามคำแนะนำ ขององค์การอนามัยโลก โดยให้ทุกคนเห็นความสำคัญ และมีทัศนคติที่ดีในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากนมแม่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานของการดำเนินชีวิตตั้งแต่ชั่วโมงแรกของเด็กและต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพราะหากรากฐานของชีวิตเด็กมั่นคงทั้งใจและกายแล้วจะทำให้ประเทศชาติสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนซึ่งการรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้แม่และครอบครัว    เห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 

           “จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2562 พบว่า มีทารกไทยเพียงร้อยละ 34 ได้กินนมแม่ ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ส่วนทารกที่ได้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยต่อเนื่องถึง 2 ปี มีร้อยละ 15 กระทรวงสาธารณสุข  จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2568 ทารกร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้ต้องอาศัย ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนหรือแม้กระทั่งบุคคลที่มีชื่อเสียงในการขับเคลื่อนไปด้วยกัน”  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

             ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นมแม่เป็นอาหารที่ดี  และเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็ก เพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีคุณค่า เหมาะกับการเจริญเติบโตของเด็กนมแม่หยดแรกเปรียบเสมือนวัคซีนในการป้องกันโรค เพราะในน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่สามารถ หาได้จากอาหารอื่น นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นกระบวนการให้อาหารกายและใจ จากแม่ไปสู่ลูกเป็นสายใยความผูกพันจากแม่ผ่านการสบตา การสัมผัส และการโอบกอดไปสู่ลูก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะทุพโภชนาการของเด็ก   ไม่ว่าในเวลาปกติหรือเวลาแห่งภัยพิบัติ โรคติดต่อ รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและของประเทศ ที่สำคัญ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องธรรมชาติที่มอบให้ลูก เพื่อการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ  และมีรากฐานชีวิตที่แข็งแรงและมั่นคง

          “ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา สถานบริการหลายแห่งมีนโยบาย   ลดความแออัดในสถานพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้และความวิตกกังวลของผู้รับบริการ จึงส่งผลต่อเวลาปฏิบัติงานในคลินิกนมแม่ และผู้ที่เข้ามารับคำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาล ซึ่งหากมีการเพิ่มช่องทางการติดต่อออนไลน์ โดยที่แม่ไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังสถานพยาบาล แต่สามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำ และทักษะการเลี้ยงลูกตามวัยตามความเหมาะสม จะช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ต่อเนื่อง และยาวนานมากขึ้น กรมอนามัย จึงร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการคำปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  แบบออนไลน์ในปี 2563 ด้วยการพัฒนาช่องทางการให้บริการในปี 2564 ผ่านแอปพลิเคชัน Everyday Doctor โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด เพื่อให้แม่สามารถเข้าถึงการรับบริการ สำหรับช่วยแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ง่ายขึ้น สะดวก รวดเร็ว ให้ทันกับความต้องการ        ช่วยเสริมสร้างความรู้ ความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

             ทางด้าน Aarti Saihjee ผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า     การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ส่งผลต่อการมีชีวิตรอด สุขภาพ ภาวะโภชนาการ และพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธี  ที่ได้ผลดี และคุ้มค่ามากที่สุด ที่จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพดี โดยเด็กที่ได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน มีพัฒนาการ  ทางสติปัญญาที่ดีกว่า ซึ่งจะส่งผลในทางบวกต่อการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต อีกทั้งในช่วงการระบาดของโควิด-19 จำเป็นต้องหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้แม่สามารถเข้าถึงการบริการเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง และให้ครอบครัว สามารถได้รับคำแนะนำเรื่องนมแม่ตามที่ต้องการได้ การให้บริการปรึกษาปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ออนไลน์ จึงเป็นการช่วยเสริมพลังในการปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนนมแม่ผ่านนโยบาย และการดำเนินงานในทุกระดับ เพื่อให้มั่นใจว่า เด็กทุกคนจะได้เริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุดด้วยนมแม่

***

กรมอนามัย / 8  สิงหาคม 2565


จากหน่วยงาน : กรมอนามัย เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 9 สิงหาคม 2565 เวลา 10:54 น.