อย. ยืนยัน 4 สารในเครื่องสำอางมีความปลอดภัย สามารถใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด


อย. ยืนยัน 4 สาร ได้แก่ โซเดียม ลอริล ซัลเฟต (Sodium lauryl sulfate), ไตรโคลซาน (Triclosan), เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone) และพาราเบน (Parabens) สามารถใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เผยมีการติดตามเฝ้าระวังข้อมูลความปลอดภัยของสารที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางมาโดยตลอด ขอให้ประชาชนมั่นใจ

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม  รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อออนไลน์เกี่ยวกับ 4 สารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ได้แก่ โซเดียม ลอริล ซัลเฟต (Sodium lauryl sulfate, SLS), ไตรโคลซาน (Triclosan),เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone) และพาราเบน (Parabens) มีอันตรายต่อผิวหนัง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า การอนุญาตให้ใช้สารใดเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางจะต้องมีหลักฐานทางวิชาการเพียงพอที่เชื่อถือได้ว่าสารนั้น มีความปลอดภัย ในประเทศไทยอนุญาตให้ใช้สารทั้ง 4 ชนิด นี้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ เนื่องจากมีข้อมูลความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการใช้ในเครื่องสำอาง ซึ่งบางรายการจะต้องใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เพราะหากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยสารโซเดียม ลอริล ซัลเฟต (Sodium lauryl sulfate) หรือ เอส แอล เอส (SLS) มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิวของน้ำ ช่วยชำระล้างฝุ่นละออง สิ่งสกปรก รวมทั้งคราบไขมันต่าง ๆ  ส่วนใหญ่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออก เช่น สบู่ แชมพู ครีมอาบน้ำ  สำหรับสารไตรโคลซาน (Triclosan) เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone) และสารกลุ่มพาราเบน (Parabens) เป็นสารกันเสีย (Preservatives) ในเครื่องสำอาง ทั้งนี้ การอนุญาตดังกล่าวเป็นไปตามหลักสากลเช่นเดียวกับในสหภาพยุโรปและอาเซียน

รองเลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย. ได้ติดตามเฝ้าระวังข้อมูลความปลอดภัยของสารที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง และปรับปรุงเงื่อนไขการใช้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะสารกันเสีย (Preservatives) เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยพบว่า สารในกลุ่มนี้อาจทำให้ผู้ใช้เกิดการแพ้ เป็นผื่น และระคายเคืองเป็นอันดับที่สอง รองจากสารแต่งกลิ่นหอม นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในท้องตลาดเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ ทั้งนี้ ก่อนซื้อเครื่องสำอางขอให้ตรวจสอบข้อมูลการอนุญาตผ่านทาง Oryor Smart Application หรือเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับเครื่องสำอางปลอมหรือใช้สารเคมีเกินกว่าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

****************************************************

วันที่เผยแพร่ข่าว 16 ตุลาคม 2563 ข่าวแจก 7  / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564


จากหน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 16 ตุลาคม 2563 เวลา 12:51 น.