กรมอนามัย ชวนคนไทยล้างมือเป็นประจำ ลดเสี่ยงโรค ป้องกันโควิด 19


 

           กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนคนไทยรณรงค์ล้างมือ เนื่องในวันล้างมือโลก ปี 2563 “สุขอนามัยมือสำหรับคุณ : Hand Hygiene for All” เพื่อลดเสี่ยงโรค และป้องกันโรคโควิด 19

            นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันล้างมือโลก โดยปีนี้กรมอนามัยได้ร่วมรณรงค์ภายใต้ Theme “สุขอนามัยมือสำหรับคุณ : Hand Hygiene for All” สร้างพฤติกรรมด้านสุขอนามัยให้ประชาชนล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นประจำ การสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของการล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะหรือสถานที่ชุมชน เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน ตลาดสด ศูนย์อาหารหรือสถานที่อื่น ๆ จะช่วยป้องกันและลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการล้างมือและสถานการณ์โรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อในประเทศไทย พบว่า มีอัตราป่วยของประชาชนลดลงทุกปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 อาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความตระหนักในการล้างมือมากขึ้น และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงให้ทุกประเทศ ให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเองจากการสัมผัสโรคดังกล่าว โดยมีมาตรการสำคัญให้ประชากรทุกคนต้องถือปฏิบัติคือการล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ เพื่อยับยั้งการปนเปื้อนของเชื้อโรค ซึ่งล่าสุดทีมวิจัยของสำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (ซีเอสไออาร์โอ) ประเทศออสเตรเลีย พบว่าที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส เชื้อโควิด 19 จะอยู่ในสภาพแข็งแรงเป็นพิเศษบนพื้นผิวเรียบ เช่น ธนบัตร ผิวหน้าจอสมาร์ทโฟน แก้ว และสเตนเลสสตีล ได้นานถึง 28 วัน ภายใต้สภาวะแวดล้อมเย็นและมืด การล้างมือเป็นประจำจึงช่วยลดความเสี่ยงปนเปื้อนเชื่อโรคจากการสัมผัสได้

           “ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการล้างมือของคนไทยล่าสุดปี 2562 จำนวน 400 คน พบว่าประชาชนมีการล้างมือทุกครั้งมากที่สุด หลังออกจากห้องส้วม ร้อยละ 98.88 รองลงมาคือ หลังสัมผัสสิ่งสกปรก เช่น น้ำมูก น้ำลาย ขยะ ร้อยละ 98.31 ก่อนกินอาหาร ร้อยละ 78.65 และหลังกลับจากนอกบ้าน ร้อยละ 78.09 ดังนั้น การสร้างพฤติกรรมการล้างมือที่ถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่ ขอให้ประชาชนยึดหลัก 2 ก่อน 5 หลัง คือ ก่อนทำอาหารและกินอาหาร ส่วน 5 หลัง คือ หลังเข้าห้องส้วม หยิบจับสิ่งสกปรก เยี่ยมผู้ป่วย สัมผัสหรือเล่นกับสัตว์ และหลังกลับมาจากนอกบ้าน โดยมีวิธีการล้าง 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ฝ่ามือถูกัน 2) ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว 3) ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว 4) หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5) ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6) ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ และ 7) ถูรอบข้อมือ โดยทุกขั้นตอนทำ 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งการล้างมือด้วยวิธีการนี้ถือเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เสียค่าใช้จ่ายน้อย และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ดี” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว  

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 14 ตุลาคม 2563

 


จากหน่วยงาน : กรมอนามัย เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 14 ตุลาคม 2563 เวลา 13:39 น.