กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 282 "กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 282 "เตือนประชาชนระมัดระวังการรับประทานอาหารทะเลจำพวก แมงดาทะเล ปลาปักเป้า หากไม่ทราบ แยกไม่ออก ไม่ควรนำมารับประทาน............."


กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 282 กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 282 "เตือนประชาชนระมัดระวังการรับประทานอาหารทะเลจำพวก แมงดาทะเล ปลาปักเป้า หากไม่ทราบ แยกไม่ออก ไม่ควรนำมารับประทาน เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีพิษรุนแรง เสี่ยงได้รับอันตรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้"

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 282 ประจำสัปดาห์ที่ 41 (วันที่ 11 – 17 ต.ค. 63)


          “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ปี 2559-2563) พบเหตุการณ์การรับประทานอาหารทะเลที่มีพิษทุกปี รวม 13 เหตุการณ์ จำแนกเป็น พิษจากแมงดาทะเล 6 เหตุการณ์ พิษจากปลาปักเป้า 7 เหตุการณ์  พบผู้ป่วยรวม 37 ราย มีผู้เสียชีวิต 11 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 29.7 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่รับประทานอาหารทะเลที่มีพิษ โดยเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วย 1 ราย รับประทานแมงดาทะเล โดยผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ ชาที่บริเวณปลายมือและปลายเท้าทั้งสองข้าง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา”

          “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้ไปจนถึงต้นปีมีโอกาสจะพบผู้ป่วยจากการรับประทานอาหารทะเลที่มีพิษ เช่น แมงดาทะเล ปลาปักเป้าได้ เนื่องจากในช่วงนี้กำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ที่พายุฝนน้อยลงอาจทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมทะเล มีโอกาสพบเจอสัตว์ทะเลที่มีพิษและเก็บมารับประทานได้โดยง่าย  โดยแมงดาทะเล และปลาปักเป้า เป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษ tetrodotoxin หรือ saxitoxin ซึ่งยับยั้งการทำงานของระบบประสาทโดยตรง ผู้ที่รับประทานพิษเข้าไปจะมีอาการ ภายหลังรับประทานประมาน 10-45 นาที หรือนานถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นกับชนิด ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือจำนวนพิษที่ได้รับ เช่น รับประทานไข่แมงดาทะเล อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ อาการมักเริ่มจากเวียนศีรษะ อาเจียน ชาบริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้า หรือมีอาการน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจทำให้กล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6-24 ชม.  ทั้งนี้ แมงดาทะเลไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ แมงดาถ้วย หรือ เห-รา ตัวเล็กกว่าหางกลมเรียบ แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่มีพิษ ทั้งในเนื้อและไข่  อีกชนิดคือแมงดาจาน ที่ตัวใหญ่กว่าแต่หางรูปสามเหลี่ยมมีรอยหยัก แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่ไม่มีพิษ สามารถรับประทานได้  อย่างไรก็ตาม ต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูงในการจำแนกชนิดของสัตว์แมงดาทะเลทั้งสองชนิด  กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการรับประทานอาหารทะเลจำพวก แมงดาทะเล และปลาปักเป้า หากไม่ทราบ แยกไม่ออก ไม่ควรนำมารับประทาน เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีพิษรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง หากประชาชนสงสัยจะได้รับพิษหรือมีอาการผิดปกติตามอาการข้างต้น ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานอาหารที่สงสัย เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

 

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 10 ตุลาคม 2563


จากหน่วยงาน : กรมควบคุมโรค เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 10 ตุลาคม 2563 เวลา 14:09 น.