กรมวิทย์ฯพัฒนาการตรวจวินิจฉัยและป้องกันโรคเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับเครือข่ายกว่า 36 แห่ง


            กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาบุคลากรห้องปฏิบัติการทางการแพทย์  ให้กับโรงพยาบาลเครือข่ายทั่วประเทศ 36 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และโรงพยาบาลเทพรัตน์เวชชานุกูล จำนวน 15 แห่ง เพื่อให้มีระบบคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และตอบสนองความต้องการของผู้มารับบริการ

นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินงานโครงการเฉลิมพระเกียรติถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 15189 : 2012 ครอบคลุมทุกรายการตรวจวิเคราะห์ที่เปิดให้บริการ และได้ขยายการพัฒนาห้องปฏิบัติการให้กับโรงพยาบาลในพระอุปถัมภ์ของมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล จำนวน 15 แห่ง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ห้องปฏิบัติการมีระบบคุณภาพตามมาตรฐานสากล หรือมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข เป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของสถานพยาบาลเหล่านั้นให้ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค เท่าเทียม และทั่วถึง

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 นี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เน้นการทำงานของเครือข่ายความร่วมมือของบุคลากรห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล รวมทั้งหมด 36 แห่ง ให้มีแนวทางการดำเนินงานระบบคุณภาพที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรักษาระบบคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง บุคลากรได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีองค์ความรู้เท่าทันเทคโนโลยี พัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นหลักประกันในการทำงานที่ส่งผลต่อการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่ดี มีคุณภาพแก่ผู้รับบริการ และตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างสูงสุด

            "ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัยที่มีคุณภาพมีความสำคัญต่อการรักษา เนื่องจากผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการจะนำไปประกอบการวินิจฉัยโรคของแพทย์ ดังนั้นผลที่ได้จะต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ จึงจะสามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการยังเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดในพื้นที่และ
ส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลให้มีคุณภาพมาตรฐานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง" นายแพทย์โอภาสกล่าว     

///24 กรกฎาคม 2563///


จากหน่วยงาน : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 24 กรกฎาคม 2563 เวลา 14:09 น.