กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนในช่วงเทศกาลออกพรรษา ให้ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ


          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ให้ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ในช่วงเทศกาลออกพรรษา ซึ่งในประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ จะมีส่วนประกอบที่เป็นวัตถุระเบิด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ และอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญได้

          วันนี้ (11 ตุลาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทุกช่วงเทศกาลออกพรรษาในหลายจังหวัดมักมีร้านค้านำดอกไม้ไฟ ประทัด และพลุ มาจำหน่ายจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนนิยมจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าว ซึ่งทุกปีจะมีผู้ได้รับอันตรายจากการจุดดอกไม้ไฟจำนวนหลายราย

          ข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าในปี 2561 มีจำนวนผู้ป่วยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ จำนวน 250 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นเพศชาย ร้อยละ 94 เพศหญิง ร้อยละ 6 พบมากในกลุ่มอายุ 5-19 ปี ร้อยละ 43.2 โดยเฉพาะกลุ่มอายุระหว่าง 10-14 ปี และ 5-9 ปี พบร้อยละ 17.6 และ 15.6 ส่วนใหญ่เกิดเหตุในบ้านและบริเวณบ้าน ร้อยละ 66 เกิดเหตุในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสำคัญหลายวัน อาทิ วันออกพรรษา วันลอยกระทง และวันขึ้นปีใหม่ โดยจังหวัดที่มีรายงานการบาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย อุดรธานี อุบลราชธานี และขอนแก่น ตามลำดับ

          จากข้อมูลพบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด เพราะอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยซื้อประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ มาจุดเล่นเองตามลำพังหรือในกลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังและควบคุมการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดและควรสอนเด็กว่าประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไม่ใช่ของเล่น เป็นวัตถุอันตรายสำหรับเด็ก และห้ามเด็กนำประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุมาจุดเล่นเด็ดขาด ไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า คำแนะนำในการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อความปลอดภัยควรปฏิบัติดังนี้ 1.ไม่เล่นผาดโผน ใกล้วัตถุไวไฟหรืออาคารบ้านเรือน 2.ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กนำประทัด ดอกไม้ไฟมาเล่น 3.หากจำเป็นต้องใช้ในงานพิธีต้องอ่านคำแนะนำก่อน และควรจุดให้ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน 4.ห้ามพยายามจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุที่จุดแล้วไม่ติดหรือไม่ระเบิดอย่างเด็ดขาด 5.ไม่เก็บประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไว้ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน แดดส่องถึง เพราะอาจเกิดการเสียดสีและระเบิดได้ 6.ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้บริเวณที่เล่น ไว้ใช้กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน 7.ห้ามประกอบหรือดัดแปลงประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไว้เล่นเองเด็ดขาด 8.ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 อย่างเคร่งครัด และ 9.หากเกิดอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อนิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจากแรงระเบิด ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเพราะจะทำให้เส้นประสาทหรือหลอดเลือดเสียได้ ขอให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669  นอกจากนี้ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน

          สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพจากประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ มีหลายด้าน ดังนี้ 1.อันตรายจากการเกิดไฟไหม้และการระเบิด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต การบาดเจ็บ และทรัพย์สินที่เสียหาย ทำให้ผิวหนังไหม้และทำให้บาดเจ็บและอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญ ซึ่งบางรายรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดหรือนิ้วขาดได้ 2.อันตรายจากการได้รับสารเคมีต่างๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองต่อหู ตา จมูก ทำลายตับ ม้าม และเกิดอัมพาตที่แขน ขา 3.อันตรายจากเสียงของระเบิดจากพลุและดอกไม้เพลิง มีผลทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว หากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือหากเสียงดังมากแม้ได้ยินเพียงครั้งเดียวอาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวร รวมทั้งมีผลต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต หากประชาชนพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ขอให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

           ******************************************************

ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 11 ตุลาคม 2562

 

 

 


จากหน่วยงาน : กรมควบคุมโรค เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 11 ตุลาคม 2562 เวลา 08:39 น.