กรมอนามัย แนะ ป้องกัน ปฏิบัติตน ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเกิดไฟไหม้


      กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีป้องกันและปฏิบัติตนเมื่อเกิดไฟไหม้ พร้อมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สร้างทางรอด

     แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา โดยอันตรายจากการเกิดเหตุไฟไหม้จะทำให้ผู้ที่ประสบภัยสำลักควันที่เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไซยาไนด์ ไนตริกออกไซด์ ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ขาดอากาศหายใจ มีอาการระคายเคือง แสบคอ เสียงแหบหายใจขัด แสบตา อ่อนเพลียและอาจมีรอยไหม้ที่ผิวหนัง ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากสมองขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเนื่องจากก๊าซพิษที่มีผลกระทบต่อปอดและการหายใจ หากในบริเวณที่เกิดเหตุไฟไหม้ มีกลุ่มเสี่ยง คือ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ ให้คอยสังเกตอาการ พาไปพักผ่อน ดื่มน้ำ ดูแลทำความสะอาดแผลไหม้ หากมีอาการผิดปกติ ควรพบแพทย์นอกจากนี้ ผู้ประสบภัย มีอาการตึงเครียด ตื่นตกใจ ควรพูดคุยกับคนในครอบครัวคนใกล้ชิด เพื่อเป็นการผ่อนคลาย

       แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ถูกไฟไหม้ ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยใช้น้ำราดเพื่อดับไฟ หรือใช้ผ้าหนาๆ คลุมตัว ถอดเสื้อผ้าที่ถูกไฟไหม้ พร้อมเครื่องประดับที่สะสมความร้อนออกให้หมด หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการหายใจผิดปกติ เสียงแหบ ต้องรีบช่วยหายใจโดยด่วน หากชีพจรเต้นเบาหรือไม่เต้นต้องรีบปั๊มหัวใจ ถ้าบาดเจ็บมีเลือดออกควรห้ามเลือดก่อน ประเมินความรุนแรงของแผลไฟไหม้ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับบาดแผลไฟไหม้ระดับชั้นผิวหนัง ต้องทำการระบายความร้อนออกจากแผล ด้วยการนำผ้าชุบน้ำแล้วนำมาประคบบริเวณบาดแผล หรือจะแช่ลงในน้ำหรือให้น้ำไหลผ่านบริเวณบาดแผลตลอดเวลา ประมาณ 10 นาที จะช่วยบรรเทา   ความเจ็บปวดให้ลดลงได้ จากนั้นทายาบริเวณแผลและนำผ้าสะอาดมาปิดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ห้ามเจาะส่วนที่พองออกเด็ดขาด หากแผลมีบริเวณกว้างหรืออยู่ใกล้อวัยวะที่สำคัญรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

          “ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ประชาชนควรตั้งสติและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 1) เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยหรือรับรู้เหตุว่าเกิดเพลิงไหม้ให้ตั้งสติและรีบออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด 2) ห้ามหนีไฟขึ้นที่สูง แต่ให้หนีลงชั้นล่าง เพราะควันไฟและความร้อนจะลอยสูงขึ้น 3) หากไม่สามารถออกจากอาคารได้ ให้กลับเข้าไปในห้องปิดประตู นำผ้าเปียกชุบน้ำมาวางปิดประตู อุดตามช่องต่างๆ ที่ควันจะสามารถเข้าไปได้ เปิดหน้าต่างและส่งสัญญาณหรือตะโกนขอความช่วยเหลือหรือโทรศัพท์แจ้งพนักงานดับเพลิงมาช่วย 4) หากจำเป็นต้องหนี        ฝ่าควันไฟออกไป ให้หมอบคลานใกล้พื้น ห้ามวิ่งออกไป เพราะอาจสำลักควันและขาดอากาศหายใจได้ และควรหาถุงพลาสติกครอบเอาอากาศบริสุทธิ์ครอบศีรษะและคลานต่ำหรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกเพื่อป้องกันสำลักควัน          5) ห้ามหายใจทางปาก แต่ควรหายใจสั้นๆ ทางจมูก 6) ห้ามใช้ลิฟท์ ควรหนีออกทางบันไดหนีไฟหรือทางที่เจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงแนะนำ 7) อย่ากระโดดลงจากตึก 8) ห้ามหลบอยู่ในจุดที่อับในอาคาร เช่น ห้องน้ำ ดาดฟ้า เพราะอาจเป็นอันตรายและยากต่อการช่วยเหลือ 9) หาผ้าชุบน้ำปิดปาก ปิดจมูก หรือหาผ้าห่มชุบน้ำแล้วห่มตัว เพื่อป้องกันการสูดควันไฟ และเพื่อป้องกันความร้อนจากเปลวไฟ และ10) เมื่อออกจากอาคารแล้ว แต่พบว่า      มีคนที่ติดอยู่ในอาคาร ห้ามกลับเข้าไปเด็ดขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้ความช่วยเหลือ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

                                                                         ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/  11 เมษายน 2562


จากหน่วยงาน : กรมอนามัย เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 11 เมษายน 2562 เวลา 17:34 น.