กรมสุขภาพจิต เร่งพัฒนาระบบสนับสนุนคนพิการทางสติปัญญา การเรียนรู้ และออทิสติก ให้มีงานอาชีพที่ยั่งยืน


กรมสุขภาพจิต เร่งพัฒนาระบบสนับสนุนคนพิการทางสติปัญญา การเรียนรู้ และออทิสติก ให้มีงานอาชีพที่ยั่งยืน 

กรมสุขภาพจิต เร่งพัฒนาระบบเตรียมความพร้อมผู้พิการ ทางสติปัญญา ทางการเรียนรู้ และออทิสติก ที่อยู่ในวัย 15-18 ปี   เข้าสู่การมีอาชีพ มีรายได้  ซึ่งที่ผ่านมาจัดเป็นกลุ่มที่ได้รับการจ้างงานน้อยที่สุด โดยให้หน่วยงานในสังกัด 20 แห่งทั่วประเทศใช้ระบบการฝึกอบรมแบบสอนงานอย่างใกล้ชิด(job Coach)  ในเบื้องต้นมีผู้พิการที่ได้รับการฟื้นฟูและมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การฝึกทักษะด้านอาชีพที่เหมาะสมกว่า 6,000 คน   

          นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาระบบสนับสนุนอาชีพให้บุคคลที่มีความพร่องทางสติปัญญา การเรียนรู้ และออทิสติก เข้าถึงการมีอาชีพ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดระบบการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการด้านสติปัญญา การเรียนรู้และออทิสติก ที่มีความพร้อมและความสามารถ  โดยพบว่าการจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. 2550 ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มพิการทางการเคลื่อนไหว ส่วนผู้พิการทางสติปัญญา การเรียนรู้และออทิสติก ได้รับการจ้างงานน้อยที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่บกพร่องด้านสติปัญญา ด้านการเรียนรู้และออทิสติกเป็นผู้พิการกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของกรมสุขภาพจิต ด้วยเหตุนี้กรมสุขภาพจิต โดยความร่วมมือของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มีสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ในสังกัดกรมสุขภาพจิต เป็นแกนประสานหลักระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ได้ดำเนินการดูแลและฟื้นฟูผู้พิการกลุ่มนี้ โดยมุ่งเน้นความสำคัญ        2  มิติ คือการเข้าถึงการพัฒนาศักยภาพงานที่เหมาะสมกับคนพิการ และความยั่งยืนในการรักษาผู้พิการให้อยู่ในระบบการทำงาน ขณะนี้มีผู้พิการ ทางสติปัญญา ทางการเรียนรู้ และออทิสติก ได้รับการฟื้นฟูจนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความพร้อมที่จะรับการพัฒนาทักษะส่งเสริมด้านการมีอาชีพแล้วกว่า 6,000 คน

  สำหรับมาตรการในการพัฒนา คือการฝึกอบรมแบบสอนงานอย่างใกล้ชิด (job Coach)  เพื่อเตรียมความพร้อมด้านอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพ ความสามารถของผู้พิการทั้ง 3 ประเภทที่มีอายุ 15-18 ปี ซึ่งผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางกายและทางจิตใจมาแล้ว เพื่อเพิ่มทักษะฝีมือด้านอาชีพ การปรับตัวทางสังคมต่างๆ โดยดำเนินการในโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศที่มี 20 แห่ง และอบรมผู้ปกครองเพื่อร่วมกันฝึกทักษะการทำงานให้คนพิการด้วย  ที่ผ่านมามีหลายอาชีพที่ผู้พิการทางสติปัญญา และออทิสติก สามารถทำได้ดีและได้รับคำชมจากลูกค้า เช่น อาชีพคาร์แคร์ ชงกาแฟ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง    จัดประชุมซักซ้อมความเข้าใจสถานประกอบการที่จะจ้างคนพิการทำงาน และมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

 

                                 *****************   10 มกราคม 2562


จากหน่วยงาน : กรมสุขภาพจิต เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 10 มกราคม 2562 เวลา 15:00 น.