กรมการแพทย์แนะวิธีการดูแลรักษารีเทนเนอร์ภายหลังการจัดฟัน


                                                                                                          

          สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ เผยภายหลังการจัดฟันทันตแพทย์จะใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน หรือ รีเทนเนอร์เพื่อคงสภาพฟันให้อยู่ในตำแหน่งเดิมไม่ให้ฟันเคลื่อน แนะผู้ที่จัดฟันควรดูแลรักษาและทำความสะอาดรีเทนเนอร์ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและการติดเชื้อในช่องปาก

          นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การมีฟันเก ฟันห่าง ฟันที่เรียงซ้อนกัน หรือฟันที่สบกันไม่พอดี รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับขากรรไกรที่ส่งผลต่อการเคี้ยวอาหาร ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ประสิทธิภาพในการเคี้ยวอาหารลดลง และยังเป็นอุปสรรคต่อการทำความสะอาด ส่งผลต่อสุขภาพทางช่องปากและฟันตามมา ดังนั้นการจัดฟันจึงมีผลดีต่อสุขภาพช่องปากและฟัน เพราะเมื่อฟันเรียงตัวกันอย่างมีระเบียบ การทำความสะอาดจะง่ายขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดฟันผุและโรคเหงือก ทั้งนี้ฟันที่สบกันสนิทจะทำให้เคี้ยวอาหารได้อย่างละเอียด ทั้งยังสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการพูดที่เกิดจากการสบของฟัน นอกจากนี้การจัดฟันยังช่วยเพิ่มความสวยงามของฟัน ทำให้พูดหรือยิ้มได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรจะจัดฟันหรือไม่ จึงขอให้ประชาชนรับบริการจากสถานพยาบาลโดยตรง ไม่ควรจัดฟันกับสถานบริการหรือบุคคลที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ ตลอดจนซื้ออุปกรณ์จัดฟันจากโฆษณาทางสื่อออนไลน์มาใช้เอง เพราะอุปกรณ์อาจไม่ได้มาตรฐานและเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องปาก

          ทันตแพทย์สมศักดิ์ ศรีพนารัตนกุล ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดฟันมีอยู่หลายประเภท วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับปัญหาของฟันและกระดูกขากรรไกรของผู้ป่วยแต่ละราย โดยระยะเวลาที่จะเห็นผลดีของการจัดฟัน อยู่ในช่วง 18 – 24 เดือน หลังการจัดฟันจนกระทั่งฟันเรียงตัวเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะถอดอุปกรณ์จัดฟันออกและใส่เครื่องมือคงสภาพฟันหรือ รีเทนเนอร์ เพื่อคงสภาพฟัน และช่วยป้องกันฟันเคลื่อนตัวกลับไปตำแหน่งเดิมหรือผิดปกติไปจากเดิม วัสดุที่ใช้มักทำจากโลหะและพลาสติกมีขนาดแตกต่างกันไป เช่น รีเทนเนอร์แบบลวดเส้นเดียว รีเทนเนอร์แบบใส และรีเทนเนอร์ชนิดถาวร ผู้จัดฟันควรดูแลรักษารีเทนเนอร์ โดยขณะที่ใส่ไม่ควรเล่นรีเทนเนอร์หรือใช้ลิ้นดันไปมาจนหลุด เนื่องจากจะทำให้หลวม หากต้องถอดรีเทนเนอร์ เมื่อรับประทานอาหารควรนำใส่กล่องเก็บรีเทนเนอร์ทันที ไม่ควรห่อกระดาษชำระหรือใส่กระเป๋า เพราะจะทำให้รีเทนเนอร์แตกหักได้ ถ้ารีเทนเนอร์หายหรือชำรุดควรแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบโดยเร็วเพื่อทำรีเทนเนอร์ใหม่ป้องกันไม่ให้ฟันเคลื่อน  นอกจากนี้ควรทำความสะอาดรีเทนเนอร์โดยใช้แปรงสีฟันขนนุ่มแปรงเบาๆ ด้วยน้ำสบู่ให้ทั่ว แช่น้ำยาเม็ดฟู่ หรือแช่น้ำส้มสายชูเจือจางในกรณีที่มีคราบหินปูนสะสมหรือมีคราบสกปรก รวมทั้งควรเปลี่ยนรีเทนเนอร์ตามระยะเวลาที่ทันตแพทย์แนะนำ หากละเลยการทำความสะอาดอาจส่งผลให้รีเทนเนอร์เปลี่ยนสี มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เกิดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา รวมทั้งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในช่องปาก ทั้งนี้ หลังใช้รีเทนเนอร์แล้วพบว่าเหงือกหรือเนื้อเยื้อภายในช่องปากบวมแดงหรือพบอาการผิดปกติใด ๆ ภายในช่องปาก ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจส่งผลให้รีเทนเนอร์เสียหาย เพื่อคงอายุการใช้งานรีเทนเนอร์ให้นานที่สุด

                             ***************************************        

                                                                             #สถาบันทันตกรรม #กรมการแพทย์  #จัดฟัน #รีเทนเนอร์

                                                      -ขอขอบคุณ-

                                                   6 พฤศจิกายน 2561


จากหน่วยงาน : กรมการแพทย์ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 6 พฤศจิกายน 2561 เวลา 11:01 น.