กรมควบคุมโรค แนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลานใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้ถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วน


            กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  แนะผู้ปกครองระมัดระวังและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ป้องกันและลด  ความเสี่ยงอย่าให้ถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน หากถูกกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และถ้าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วให้ไปฉีดวัคซีนต่อให้ครบตามนัดทุกครั้ง

            วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่ฝูงสุนัขจรจัดกัดเด็กวัยขวบเศษ บาดเจ็บสาหัส เข้าพักรักษาในโรงพยาบาลนั้น กรมควบคุมโรคขอแนะนำประชาชนให้ระวังสัตว์จรจัด หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น สุนัข แมว โค กระบือ กระรอก เป็นต้น  ที่อาจกัดหรือข่วน เนื่องจากสัตว์ไม่คุ้นชินอาจจะทำอันตรายแก่เด็กได้  หรือหากจำเป็นต้องให้บุตรหลานอยู่ลำพังในเวลาสั้นๆ ควรให้อยู่ภายในบ้าน และปิดประตูมิดชิด ไม่ให้สัตว์เข้าได้

            สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561  มีผู้เสียชีวิต 17 ราย ใน 14 จังหวัด (จากบุรีรัมย์ ระยอง และสงขลา จังหวัดละ 2 ราย สุรินทร์ ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ตาก และ        สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย) และพบสัตว์เป็นโรคกว่า 2000 ตัว กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค โดยปัญหาของสุนัขจรจัด     ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น เกิดจากเจ้าของสุนัขที่ไม่สามารถเลี้ยงสุนัขได้ เช่น ย้ายที่อยู่ หรือสุนัขออกลูกในจำนวนมากเกินกว่าที่จะเลี้ยงได้ นำไปสู่การปล่อยทิ้งสุนัขตามที่ต่างๆ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือสุนัขบางตัวอาจตายแต่ส่วนที่รอดเมื่อเวลาผ่านไปจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้จำนวนสุนัขจรจัดมีมากขึ้นและเป็นแหล่งรังโรคต่างๆที่อาจนำมาสู่คนได้ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย    ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที ใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง นอกจากนี้ ควรสังเกตสุนัขว่ามีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ภายหลังสุนัขตัวนั้นไปกัดข่วนคน ต้องรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  ทั้งนี้ ขอให้ยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ดังนี้  1.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์   2.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน  3.อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้  4.อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน  และ 5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

**************************************************

ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

โทรศัพท์ 0-2590-3857 / วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561


จากหน่วยงาน : กรมควบคุมโรค เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 6 พฤศจิกายน 2561 เวลา 11:11 น.