กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังคุณภาพน้ำจากบ่อน้ำร้อนธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำรวจคุณภาพน้ำจากบ่อน้ำร้อนธรรมชาติที่นำมาใช้ประโยชน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน พบว่า บ่อน้ำร้อนต้นกำเนิดมีคุณภาพดีผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่เกี่ยวข้องทางด้านกายภาพ ด้านเคมีและด้านจุลชีววิทยา แต่พบมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์จากสิ่งแวดล้อมได้ เช่น เศษใบไม้ ฝุ่นละออง น้ำฝนหรือน้ำผิวดินที่ไหลผ่านแหล่งพักเชื้อ เป็นต้น ส่วนบ่อแช่ที่เป็นกิจกรรม  ที่นิยมนั้น อาจมีโอกาสในการตรวจพบเชื้อสูงขึ้นทั้งชนิดและปริมาณตามจำนวนการใช้ของนักท่องเที่ยว ดังนั้นนักท่องเที่ยวควรชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนใช้บริการและผู้ประกอบการควรทำความสะอาดบ่อแช่ก่อนและหลังการใช้อย่างสม่ำเสมอ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า บ่อน้ำร้อนธรรมชาติเกิดจากน้ำใต้ดินที่ถูกความร้อนและแรงอัดภายใต้พื้นโลกไหลขึ้นมาตามรอยเลื่อน น้ำจะมีคุณสมบัติตามปริมาณแร่ธาตุที่ละลายอยู่ในชั้นหินที่น้ำไหลผ่าน ดังนั้น ความร้อนและแร่ธาตุจึงเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในการกำหนดคุณภาพของบ่อน้ำร้อนบำบัดรักษาหรือเชิงสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้พบแหล่งน้ำพุร้อน จำนวน 33 แหล่ง อุณหภูมิน้ำร้อนที่ผิวดินอยู่ระหว่าง 40–80  องศาเซลเซียส แต่ละพื้นที่ได้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ่อ และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ   ประเภทน้ำพุร้อนธรรมชาติ ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภค ในปีประมาณ พ.ศ. 2560-2561 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี จึงได้สุ่มสำรวจคุณภาพน้ำจากบ่อน้ำร้อนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำร้อนต้นกำเนิด จำนวน 26 แหล่ง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางกายภาพและทางเคมี ส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภคมีเพียงบางแห่งปริมาณฟลูออไรด์ที่เกินเกณฑ์กำหนด (2 มิลลิกรัมต่อลิตร) ดังนั้นการนำไปผลิตเป็นน้ำดื่มประเภทน้ำแร่ธรรมชาติในภาชนะบรรจุ      ที่ปิดสนิท ต้องแสดงคำเตือนในฉลากว่าไม่เหมาะสมสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข  เนื่องจากมีปริมาณฟลูออไรด์เกินเกณฑ์กำหนด อาจทำให้ผิวสีฟันตกกระได้

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากน้ำจากบ่อน้ำร้อนธรรมชาติเป็นน้ำใต้ดิน การตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ในบ่อน้ำต้นกำเนิด สาเหตุหลักจึงมาจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม และการดูแลรักษาความสะอาดของบ่อน้ำที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การทำความสะอาดบ่อและบริเวณโดยรอบ การป้องกันเศษใบไม้ ฝุ่นละอองตกหล่นลงไปในบ่อ การป้องกันน้ำฝนหรือน้ำผิวดินชะล้างสิ่งสกปรกลงไปปนเปื้อนในบ่อ จะสามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ลงได้ ส่วนน้ำในบ่อแช่ก่อนเปิดให้ผู้ใช้บริการลงแช่ พบเชื้อจุลินทรีย์สูงกว่าน้ำในบ่อน้ำร้อนต้นกำเนิด และตรวจพบปริมาณมากขึ้นหลังการใช้  อีกทั้งยังพบกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่อาจมาจากผิวหนังของผู้มาใช้บริการ จึงควรจะมีการปรับปรุงกระบวนการให้เหมาะสม เช่น การชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนใช้บริการ การปรับอัตราการไหลของน้ำหรือระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายน้ำ การทำความสะอาดบ่อพักน้ำและบ่อแช่ ก่อนและหลังการใช้อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

“น้ำจากบ่อน้ำร้อนธรรมชาติในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบนมีคุณภาพที่ดีและปลอดภัย เหมาะสมต่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่การปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในบ่อแช่อาจมีสาเหตุจากพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ จึงควรให้ผู้ใช้บริการชำระล้างร่างกาย และสวมเสื้อผ้าที่สะอาดเหมาะสมก่อนลงแช่ ผู้มีบาดแผลบริเวณผิวหนังควรละเว้นการใช้บริการ    และผู้ประกอบการจะต้องหมั่นทำความสะอาดบ่ออย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของประชาชน”อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว 


จากหน่วยงาน : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 6 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09:33 น.