รพ.นพรัตนราชธานีค้นพบนวัตกรรมใหม่รักษาโรคนิ้วล็อก


                                                     

                โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ ค้นพบนวัตกรรมใหม่รักษาโรคนิ้วล็อก ด้วยการใช้เข็มผ่าตัดผ่านผิวหนังโดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์นำ “สะดวก ประหยัด แม่นยำ ปลอดภัย และฟื้นตัวไว”

                นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคนิ้วล็อก (Trigger finger) ถือเป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาขึ้นนี้ด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ต้องใช้ข้อนิ้วมือ หรืองานที่ต้องใช้มือซ้ำๆ อย่างหนักและต่อเนื่อง ในระยะแรกอาจมีอาการปวดและขัดนิ้ว ระยะต่อมาเมื่อการดำเนินโรคเป็นมากขึ้นจะมีอาการล็อก โดยในท้ายที่สุดถ้าอาการเป็นมากขึ้นและไม่ตอบสนองต่อการรักษา มีความจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็น ซึ่งการผ่าตัดแบบดั้งเดิม (Open trigger finger release) จะเป็นการผ่าตัดแบบเปิด มีโอกาสปวดหลังการผ่าตัด และใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์กว่าจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดพังผืดบริเวณที่ผ่าตัดได้ในอนาคต

                นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ ประสบผลสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยโรคนิ้วล็อก ด้วยการใช้เข็มผ่าตัดผ่านผิวหนังโดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์นำ ซึ่งในปี 2561 ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทนวัตกรรมการบริการ จากผลการพิจารณารางวัลเลิศรัฐ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นผลงานของนายแพทย์นรฤทธิ์ ล้วนจำเริญ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่ให้การรักษาผู้ป่วยโรคนิ้วล็อก ด้วยการใช้เข็มผ่าตัดนิ้วล็อกผ่านผิวหนังโดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์นำเป็นการผ่าตัดด้วยการใช้เข็มฉีดยาที่ใช้กันโดยทั่วไปในแผนกผู้ป่วยนอก เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นแทนใบมีดผ่าตัด โดยไม่จำเป็นต้องมีแผลเปิด ซึ่งการผ่าตัดจะประเมินด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ตลอดเวลา ทำให้สามารถมองเห็นโครงสร้างที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเส้นเอ็น ปลอกหุ้มเส้นเอ็น เส้นเลือด และเส้นประสาท ทำให้สามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ โดยไม่เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อโดยรอบ ลดผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ส่งผลให้การฟื้นตัวเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ผู้ป่วยได้รับบริการที่รวดเร็วไม่ต้องรอคิวนาน ที่สำคัญสามารถทำการผ่าตัดได้ที่แผนกผู้ป่วยนอก เนื่องจากมีระยะเวลาการทำการผ่าตัดต่อนิ้วประมาณ 5 นาที ในแง่ของประสิทธิผลของการรักษามีความแม่นยำสูง ไม่มีแผลเย็บ ลดอาการปวดหลังผ่าตัด ลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวด หายจากอาการนิ้วล็อกทันที สามารถใช้งานมือได้ปกติภายใน 2 วันหลังผ่าตัด และลดโอกาสเกิดพังผืดซ้ำในอนาคต ทั้งนี้การใช้เข็มผ่าตัดนิ้วล็อกผ่านผิวหนังโดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์นำ เป็นนวัตกรรมใหม่ของการรักษาโรคนิ้วล็อกที่ “สะดวก ประหยัด แม่นยำ ปลอดภัย และฟื้นตัวไว”     

***************************************

                                                                                    -ขอขอบคุณ-                 

                                                                                 13  กันยายน  2561


จากหน่วยงาน : กรมการแพทย์ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 13 กันยายน 2561 เวลา 08:58 น.