รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าควบคุมผับ บาร์ ตลาดสด ร้านอาหารที่ไม่ติดแอร์ด้วย คาดมีผลใช้ต้นปีหน้า พร้อมผลักดันเสนอตั้งสายด่วนปรึกษาการเลิกบุหรี่ระดับชาติฟรี ช่วยเหลือนักสูบ 10 ล้านคนที่ต้องการเลิกสูบ และเตรียมเพิ่มมาตรการควบคุมบุหรี่รสผลไม้หรือ บารากู่ ซึ่งขณะนี้กำลังฮิตในหมูวัยรุ่น ให้แจ้งส่วนประกอบเพราะอันตรายเหมือนกัน ฝ่าฝืนโทษหนักปรับครั้งละ 1 แสนบาท
วันนี้ (10 กันยายน 2550) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการ บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ หลังจากนั้นได้แถลงข่าวร่วมกับ นายท็อดด์ ฮาร์เปอร์ ผู้บริหารองค์กรสุขภาพของประเทศออสเตรเลีย ( Mr. Todd Harper CEO-Vic Health) นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานภาคีกฎหมายบุหรี่โลก
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ขณะนี้บุหรี่เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายสุขภาพของประชาชน องค์การอนามัยโลกระบุว่าพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้คนทั่วโลกมีสุขภาพเสีย เจ็บป่วยง่ายขึ้น อายุสั้นลง มาจาก 4 สาเหตุใหญ่ได้แก่ เหล้า บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย และการกินผักผลไม้น้อยลง โดยเฉพาะบุหรี่เป็นตัวการส่งสารพิษเข้าทำลายอวัยวะภายในโดยตรง ผลสำรวจการสูบบุหรี่คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ในปี 2549 พบมีคนสูบประจำประมาณ 10 ล้านคน ในภาพรวมลดลงทุกกลุ่มอายุ แต่ต้องเพิ่มเฝ้าระวังในกลุ่มเด็กวัยรุ่นและผู้หญิงที่มีแนวโน้มการสูบครั้งคราวเพิ่มขึ้น
บุหรี่ที่กำลังระบาดหนักในกลุ่มวัยรุ่นปัจจุบันคือ การใช้บุหรี่ชูรสต่างๆเช่น รสช็อคโกแล็ต และผลิตภัณฑ์บารากู่ ซึ่งการเพิ่มรสชาติกลิ่นผลไม้ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ความเป็นพิษยังมีเหมือนเดิม และจะมีอันตรายมากขึ้น เนื่องจากบุหรี่ประเภทนี้ไม่เหม็น อาจจะทำให้ปริมาณการสูบมากกว่าเดิมอีก จะเป็นอันตรายต่อปัญหาสุขภาพในอนาคต และผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้ง 2 ประเภทนี้ยังไม่ได้แจ้งส่วนประกอบต่อกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ไม่สามารถจำหน่าย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกจังหวัดตรวจสอบอย่างจริงจัง หากพบผู้ใดมีไว้ในครอบครองหรือจำหน่าย จะดำเนินการตามกฎหมาย และมีโทษปรับครั้งละ 100,000 บาท นายแพทย์มงคลกล่าว
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์บารากู่ยังถูกควบคุมด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาสูบของกรมสรรพสามิต ซึ่งการนำเข้าต้องขออนุญาตก่อน แต่กรมสรรพสามิตยังไม่เคยอนุญาต ดังนั้นจึงเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายทั้งหมด
สำหรับมาตรการในปี 2551 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบ 2 ฉบับ คือ 1. พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งจะเน้นให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลก และจะเพิ่มสถานที่ปลอดบุหรี่ให้มากขึ้น ได้แก่ ผับ บาร์ ตลาดสด ร้านอาหารที่ไม่ติดแอร์ ซึ่งในผับบาร์ที่ติดแอร์นั้น จะต้องเป็นเขตปลอดควันบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ หากใครจะสูบบุหรี่ต้องออกไปสูบข้างนอก ส่วนตลาดสด ร้านอาหารที่ไม่ติดแอร์ จะต้องให้มีการจัดมุมให้สูบบุหรี่ไว้ต่างหาก และต้องอยู่ห่างคนหมู่มาก ไม่ส่งกลิ่นรบกวนด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ครบทั้ง 4 ภาคแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้ และสามารถประกาศใช้ในต้นปี 2551
ประเด็นสำคัญควบคู่กันก็คือ การจัดบริการช่วยเหลือนักสูบ 10 ล้านคน ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ โดยจะเร่ง
ให้มีบริการเลิกบุหรี่ในภาครัฐที่มีประสิทธิผล มีบริการให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ระดับชาติ (National Quitline) ซึ่งที่ผ่านมามีเฉพาะในภาคเอกชนเท่านั้น ทำให้การเข้าถึงมีขีดจำกัด โดยบริการนี้อาจทำคล้ายเลขหมายโทรศัพท์ของศูนย์นเรนทร คือ 4 หลักหรือ 3 หลัก บริการฟรี และจะให้พิมพ์หมายเลขโทรศัพท์ลงบนซองบุหรี่ ขณะนี้ประเทศที่เจริญแล้วทำแล้วหลายประเทศ
View 6
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ