ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยปัญหาผู้หญิงและเด็กถูกกระทำรุนแรงในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น      โดยปรับบทบาท “ศูนย์พึ่งได้” ของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพิ่มงานเชิงรุกเป็นศูนย์บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดูแลช่วยเหลือทั้งทางร่างกายและจิตใจ และป้องกันปัญหาอื่น ๆ เช่น ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เผยสถิติในปี 2553 ทั่วประเทศมีเด็กและผู้หญิงถูกทำร้ายกว่า 25,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 3 ราย ปัญหาอันดับหนึ่งของเด็กคือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนปัญหาหลักของผู้หญิงคือถูกทุบตี 
วันนี้ (3 พฤษภาคม 2555) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาแนวทางการดูแลช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายและจิตใจว่า   จากสถิติที่ผ่านมาใน ปี 2553 พบทั่วประเทศมีเด็กและผู้หญิงถูกทำร้ายกว่า 25,000 ราย เฉลี่ย 70 รายต่อวันหรือชั่วโมงละ 3 ราย โดยเป็นเด็กจำนวน 13,190 ราย ปัญหาอันดับหนึ่งของเด็กคือถูกล่วงละเมิดทางเพศ พบร้อยละ 71 รองลงมาคือการถูกทุบตี ต้นเหตุเกิดมาจากสภาพแวดล้อมได้แก่สื่อลามก ความใกล้ชิด และโอกาสเอื้ออำนวย โดยเกือบ 9 ใน 10 ของเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงเป็นเด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 10-15 ปี รองลงมาคือระหว่าง 15-18 ปี พบว่าผู้กระทำความรุนแรงในเด็กส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จักไว้วางใจและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด
  
  
ส่วนผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงที่มีจำนวน 12,554 ราย พบมากในกลุ่มอายุ 25-45 ปี ปัญหาอันดับหนึ่งคือร้อยละ 75 ถูกทุบตี รองลงมาคือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนใหญ่มักเกิดที่บ้าน ผู้ทำร้ายมักเป็นคู่สมรส จากปัญหานอกใจ หึงหวงและทะเลาะวิวาท ซึ่งแนวโน้มปัญหานี้จะรุนแรงมากขึ้นตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ จึงจะต้องจัดบริการรองรับปัญหาให้ทันท่วงทีและครอบคลุม
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายปรับบทบาทของศูนย์พึ่งได้ที่มีในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปที่มีทั้งหมด 116 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นหน่วยงานถาวรดำเนินการให้บริการแก่ผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ และเป็นศูนย์บูรณาการช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะเดียวกันจะเป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่ป้องกันและส่งเสริมสุขภาพอื่น ๆ ของเด็กและผู้หญิง เช่น การป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรหรือเด็กหญิงแม่ ซึ่งมีปีละประมาณ 300,000 ราย และการทำแท้งที่พบร้อยละ 16 ของหญิงที่ตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการดูแลสุขภาพเด็กและผู้หญิงในแต่ละจังหวัด และต่อไปกระทรวงสาธารณสุขจะขยายสู่โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ได้มอบให้สำนักงานบริหารการสาธารณสุขเร่งดำเนินการจัดทำโครงสร้างหน่วยบริการของศูนย์พึ่งได้ และบทบาทความรับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อนำเข้าที่ประชุม อกพ. ของกระทรวงสาธารณสุขโดยเร็ว
 ********************************** 3 พฤษภาคม2555


   
   


View 10       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ