ระวังโดนของปลอมราคาถูก ไม่ขึ้นทะเบียน อย. เสี่ยงตาบอดใน 2 ชั่วโมงหากฉีดโดนเส้นเลือด

           แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง เตือนวัยรุ่นไทย วัยดึก ที่นิยมฉีดฟิลเลอร์ เนรมิตความสวยทันใจสไตล์เกาหลีภายใน 10 นาที โดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้น ให้ระวังอันตราย โดยเฉพาะฟิลเลอร์ปลอม ราคาถูกที่โฆษณาตามเว็บไซต์ และมีการลับลอบฉีดกันตามรถตู้ คอนโด แอบอ้างว่าใช้แพทย์เป็นคนฉีดฟิลเลอร์ให้ อาจทำให้เสี่ยงต่ออันตรายร้ายแรงได้หรือตาบอดได้ใน 2 ชั่วโมงหากฉีดพลาดโดนเส้นเลือด แนะก่อนฉีดควรตรวจสอบว่าฟิลเลอร์ได้รับมาตรฐานจาก อย.
           นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังและรองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระแสความนิยมฉีดฟิลเลอร์ (Filler) ซึ่งเป็นการใช้สารสังเคราะห์ มาช่วยเสริมความงามโดยเฉพาะบนใบหน้า เพื่อลดริ้วรอยเหี่ยวย่นที่มากับวัย ทำให้ใบหน้าดูเต่งตึง ดูอ่อนกว่าวัยจริง และยังใช้เสริมสร้างความโดดเด่นบนใบหน้า เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นทั้งหญิงและชาย เช่น ฉีดบริเวณสันจมูกให้โด่งขึ้นแทนการผ่าตัดใส่ซิลิโคนแท่ง ฉีดคางให้ใบหน้าดูเรียวเล็กคล้ายเกาหลี กำลังเป็นที่นิยมของคนไทยเนื่องจากสะดวกในการรับบริการ ไม่เจ็บตัว สวยได้ทันตาเห็นภายใน 10 นาทีหลังฉีด และไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้นเหมือนการผ่าตัด
นายแพทย์จิโรจกล่าวว่า สารฟิลเลอร์ที่ใช้กันขณะนี้มีหลายชนิด หลายยี่ห้อ หลายราคา โดยมีการนำเข้าจากหลายประเทศ ซึ่งต้องขออนุญาตนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ก่อน หากไม่ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองความปลอดภัยจากอย. จะถือว่าเป็นเครื่องสำอางเถื่อน โดยส่วนใหญ่จะนำมาใช้เรื่องของความสวยความงาม นิยมฉีดลบริ้วรอย ลบร่องลึก  ข้อดีของสารดังกล่าวคือ ไม่กระตุ้นภูมิแพ้ หลังฉีดไม่ต้องมีการพักฟื้น ส่วนข้อเสียคือ หากหลังฉีดเข้าไปแล้วจะแก้ไขโดยวิธีการดูดเอาออกมาทำได้ยาก โดยสารฟิลเลอร์นี้จะอยู่ในร่างกายไม่คงทนถาวร อยู่ได้ประมาณ 8 เดือนจนถึง 2 ปีและจะค่อยๆสลายไปเอง ขึ้นอยู่กับคุณภาพของฟิลเลอร์แต่ละยี่ห้อ โดยปริมาณการใช้มากน้อย ไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายของผู้ที่ต้องการฉีด แต่อย่างใด
“เรื่องที่น่าห่วงคือหลังจากที่มีกระแสนิยมในเรื่องนี้มากๆ พบว่ามีการลักลอบฉีดซิลิโคนเหลวแทนสารฟิลเลอร์ และมีการลักลอบฉีดฟิลเลอร์ โดยผู้ฉีด ไม่ใช่แพทย์ และมีการโฆษณาตามเว็บไซต์ หรือเร่ฉีดตามรถตู้ ตามคอนโด ซึ่งจะมีราคาค่าบริการถูกลง เพราะใช้สารฟิลเลอร์ปลอมหรือสารฟิลเลอร์ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากอย. ซึ่งผิดกฎหมาย และมีผลเสียที่ร้ายแรงมาก เพราะหากเป็นสารฟิลเลอร์ปลอม ไม่มีมาตรฐาน อย. รวมทั้งฉีดกับบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจเกิดความผิดพลาด เช่นกรณีฉีดเสริมสันจมูก หากฉีดถูกเส้นเลือด สารฟิลเลอร์อาจเข้าไปอุดในเส้นเลือดและเข้าไปกดทับเส้นเลือดดำระหว่างหัวคิ้ว ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ จนถึงขั้นตาบอดได้ในระยะเวลา 2 ชั่วโมง หรือสารฟิลเลอร์อาจเข้าไปในกระแสเลือด วิ่งสู่สมองได้ หรือทำให้เส้นเลือดแตกหรือเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองอุดตัน เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ได้ ที่ผ่านมายังไม่พบมีการแพ้สารชนิดนี้” นายแพทย์จิโรจกล่าว 
และขอเตือนวัยรุ่นที่คิดจะเสียเงินฉีดฟิลเลอร์เพื่อเสริมความงาม  มีจมูกแบบเกาหลีขอให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน เลือกประเภทฟิลเลอร์และสถานที่เข้ารับบริการว่าปลอดภัย และควรไปทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น  โดยปรึกษาแพทย์ที่จะฉีด ถึงสารที่ใช้ ยี่ห้อดูกล่อง ฉลาก และความสะอาด เพราะความอยากสวยในเวลารวดเร็ว ราคาถูกอาจทำให้เสียใจและเสียชีวิตในภายหลังได้  
ทั้งนี้ ลักษณะของสารฟิลเลอร์ จะใสคล้ายๆ กับเจล โดยสารที่นำมาใช้ฉีดฟิลเลอร์ มี 4 ชนิด ได้แก่ 1.ใช้ไขมันจากหน้าท้องของตัวเองมาฉีดเติมที่แก้ม ชนิดนี้ใช้กันเมื่อหลายปีก่อน   2. ซิลิโคนเหลว แต่ในปัจจุบันไม่นิยมใช้ เนื่องจากพบปัญหาการแพ้สารซิลิโคน เกิดปัญหาซิลิโคนไหลย้อย   และเกิดพังพืดบริเวณที่ฉีด ทำให้เป็นก้อนแข็งตามมาหลังจากฉีดไปนานๆ 3.คอลลาเจน (collagen) ซึ่งเป็นสารสกัดหรือสารสังเคราะห์จากไขมันสัตว์ เช่น จากไขมันวัว อาจทำให้เกิดปัญหาการแพ้โปรตีนได้ ดังนั้นก่อนฉีดสารฟิลเลอร์ชนิดนี้ จึงต้องมีการทดสอบการแพ้ก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ว่าแพ้สารดังกล่าวหรือไม่      
และ4.สารไฮยาลูโรนิก แอซิด (Hyaluronic acid)ซึ่งเป็นสารอุ้มน้ำที่มีอยู่ในชั้นหนังแท้และมีในร่างกายของคน บางชนิดเป็นสารที่สกัดมาจากสัตว์ บางชนิดเป็นการสังเคราะห์ทางชีวภาพสกัดมาจากน้ำตาลที่ถูกย่อยโดยแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus bacteria)สารไฮยาลูโรนิก แอซิดนี้ มีข้อดีคือปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดการแพ้ ไม่ต้องทดสอบก่อนฉีด และหากฉีดไปแล้วไม่พอใจ ก็สามารถแก้ไขได้ โดยแพทย์จะฉีดสารละลายแก้ไข เรียกว่าสารไฮยาลูโรนิเดส (Hyaluronidase) เข้าไปเพื่อสลายสารไฮยาลูโรนิค แอซิด ให้ยุบตัวลง
************************************ 11 มีนาคม 2555


   
   


View 8       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ