สาธารณสุข ชี้คนไทยป่วยเป็นไตวายเรื้อรังเพิ่มกว่า 2 เท่าตัวในรอบ 5 ปี สาเหตุหลักเกือบครึ่งมาจากเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เร่งตัดไฟแต่ต้นลม จับมือ 5 ภาคีเครือข่าย ร่วมปรับเปลี่ยนนิสัยการกินคนไทย ให้กินจืด ลด หวาน มัน เค็ม ชี้เมนูเสี่ยงไตวายเช่น เมนูรสแซ่ปประเภทต้มยำ ยำ เพราะต้องใช้วัตถุปรุงรสให้เข้มข้น

วันนี้ (8 มีนาคม 2555) ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย และนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิดงานรณรงค์“กินรสจืด ยืดชีวิต” เนื่องในวันไตโลก (World kidney day) ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคม 2555

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ 5 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ 1.สมาคมภัตตาคารอาหารไทย โดยนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารอาหารไทย 2.สมาคมผู้ประกอบการอาหาร   โดยนายสมพงษ์ จิระพรพงศ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการอาหาร 3.สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยแห่งประเทศไทย โดยน.ส.ประภัสสร รังสิโรจน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยแห่งประเทศไทย 4.ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทยโดยนายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และ5.สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย โดยผศ.นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรังสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมมือกันรณรงค์ให้คนไทย“กินรสจืด ยืดชีวิต” เพื่อลดการเกิดโรคเรื้อรังและโรคไตวาย 
นายวิทยากล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายในการช่วยกันป้องกันและลดปัญหาโรควิถีชีวิตหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญคือ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง ส่วนโรคไตวายนั้น พบว่าในรอบ 5 ปีมานี้ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว สาเหตุของไตวายอันดับ 1 คือเบาหวาน รองลงมาคือโรคความดันโลหิตสูง พบได้เกือบร้อยละ 50 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอีกสาเหตุหนึ่งเกิดมาจากการชอบกินอาหารรสเค็ม จึงต้องเร่งแก้ไข ป้องกันที่ต้นเหตุลดการป่วยจาก 2 โรคนี้ คือการปรับแก้พฤติกรรมการกินอาหารของคนไทย ต้องลดกินอาหารรสหวาน รสมัน และรสเค็ม เพราะอาหารการกินขณะนี้สามารถหาซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะคนในเขตเมืองและกทม.ซึ่งกว่าร้อยละ 80 นิยมกินอาหารนอกบ้าน ร้านอาหารและแผงลอยขายอาหารจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกันป้องกันโรคนี้ได้ ซึ่งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารที่ร่วมลงนามในวันนี้ มีสมาชิกรวม 13,350 ร้านทั่วประเทศ
นายวิทยากล่าวต่อว่า ส่วนในเขตชนบทที่ปรุงอาหารกินเองที่บ้าน เชื่อว่าพลังของอสม.จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปรุงอาหารของแม่ครัวให้มีรสจืดลง ไม่ใช้ผงชูรส ผงปรุงรสต่างๆ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะในการเปลี่ยนความเคยชินกับอาหารรสจัดของทั้งคนปรุงและคนกินอาหาร โดยจะให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลทั่วประเทศ ดูแลร้านอาหารที่จำหน่ายในหน่วยงานให้ลดปรุงอาหารรสเค็มลงครึ่งหนึ่งลดการใช้เครื่องปรุงรส ก้อนปรุงรสงดวางพวงเครื่องปรุงอาหารบนโต๊ะอาหาร และงดเมนูอาหารที่ทำจากของหมักดอง เค็ม เช่น หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ปลาเค็ม ไข่เค็ม เป็นต้น เพื่อเป็นต้นแบบการปรุงอาหารสุขภาพที่ไม่ทำร้ายไต เนื่องในวันไตโลกวันนี้ 1 วันด้วย
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย เช่น กินมากเกินไป กินอาหารหวาน เค็ม ไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย ความเครียดสะสม โรคดังกล่าวจะมีผลต่อเส้นเลือดไปเลี้ยงไตทำให้ไตขาดเลือด และการทำงานกรองของเสียออกจากร่างกายลดลง เกิดปัญหาไตวาย โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยคาดประมาณว่า ขณะนี้คนไทยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 7 ล้านคน ในจำนวนนี้ 35,000 รายเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องต้องฟอกไต หรือผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ ในปี 2553 มีผู้ป่วยไตวายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 386,102 ครั้งหรือวันละ 1,057 ครั้ง   
ทั้งนี้ นิสัยการกินของคนไทยในขณะนี้ ก็คือ ชอบอาหารรสจัด หรือพูดกันติดปากว่าเมนูรสแซ่ป เช่นส้มตำ ต้มยำ ยำต่างๆ บะหมี่สำเร็จรูป การปรุงอาหารเหล่านี้ จะต้องใช้วัตถุปรุงรสเพิ่มขึ้นทั้งเกลือ น้ำตาล จะมีผลทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น เพราะไตทำงานหนักในการกรองเกลือโซเดียมและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย ซึ่งผลการสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมคลอไรด์ของประเทศไทย ของกรมอนามัยและองค์กรยูนิเซฟประจำประเทศไทยล่าสุดในปี 2550 พบว่าคนไทยได้รับเกลือโซเดียมคลอไรด์ถึง 2 ทาง คือได้จากที่อยู่ในเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ ปรุงรสอาหารหรือใช้ในการถนอมอาหารเฉลี่ยวันละ 12 กรัม และได้รับจากอาหารในรูปอื่นที่รสชาติไม่เค็ม เช่นในผงชูรส ผงฟู ผงปรุงรสต่างๆ เฉลี่ย 4.3 กรัมต่อวัน สูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่า
 นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเข้มข้นการรณรงค์ “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยไตไม่วาย” โดยลดกินอาหารที่มีรสเค็ม เช่น อาหารกระป๋อง อาหารหมักดองทั้งผัก ผลไม้ อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ปลาส้ม แหนม เป็นต้น อาหารกึ่งสำเร็จรูปพวกบะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ขนมถุงกรุบกรอบ หากปรุงอาหารเองไม่ควรปรุงเค็มมาก และไม่เติมผงชูรสหรือผงปรุงรส หรือหากกินก๋วยเตี๋ยว ควรรับประทานน้ำซุปแต่น้อย หรือเทน้ำซุปออกบางส่วนแล้วเติมน้ำเพื่อเจือจางลง เนื่องจากน้ำซุปมักมีโซเดียมสูง  
ทั้งนี้ตามบันทึกข้อตกลงที่ได้ร่วมลงนามในวันนี้ สมาคมภัตตาคารอาหารไทย สมาคมผู้ประกอบการอาหาร และสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยแห่งประเทศไทย จะหลีกเลี่ยงการวางเครื่องปรุงรสบนโต๊ะอาหาร ลดการปรุงอาหารหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผักผลไม้ในเมนูอาหารมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคกินอาหารรสหวาน มัน เค็มให้น้อยลง ส่วนอสม.ทั่วประเทศทีมีประมาณ 1 ล้านคนทุกหมู่บ้าน จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการกินอาหารเพื่อสุขภาพ และเป็นแกนนำในการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน ลดกินอาหารรสหวาน มันเค็ม และเพิ่มการกินผักผลไม้ให้ได้ตามมาตรฐานคือวันละครึ่งกิโลกรัม   เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี
*********************************** 8 มีนาคม 2555


   
   


View 6       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ