นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายแก้ไขการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบทห่างไกลอย่างถาวร เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง โดยมีนโยบายผลิต 1 หมอ 1 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อประจำการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,750 แห่ง ซึ่งเป็นสถานบริการสุขภาพต้นทาง ที่จะดูแลสุขภาพประชาชน ไม่ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ แพทย์กลุ่มนี้จะทำหน้าที่หลักคือการสร้างเสริมสุขภาพ ประชาชนและครอบครัว ให้มีสุขภาพดี ลดปัญหาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะจากโรคเรื้อรัง และให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยที่มีอาการไม่หนัก วินิจฉัยแยกโรคได้ รวมทั้งส่งต่อผู้ป่วยอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ เรียกว่า “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” ทำงานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลประจำอำเภอและจังหวัด จะทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ได้รับการดูแลสุขภาพใกล้บ้าน โดยจะเร่งดำเนินการโดยเร็ว ตั้งเป้าภายใน 10 ปีจะมีแพทย์ครบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง
นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้ตั้งคณะทำงาน 1 ชุด ศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ และผลักดันให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ศูนย์ทดสอบวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน รองเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา วิทยาลัยบริหารโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยมีนายแพทย์วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
ทางด้านนายแพทย์วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานโครงการผลิต 1 หมอ 1 รพ.สต. ในวันนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยกับแนวนโยบายซึ่งจะทำให้การบริการสาธารณสุขของไทยในอนาคต สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพโลก คือเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ลดปัญหาการเจ็บป่วย แก้ไขปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาล ทิศทางการดำเนินการผลิตแพทย์ดังกล่าว จะเป็นความร่วมมือของ 3 กระทรวงหลักคือ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะเป็นผู้ให้บริการ กระทรวงศึกษาธิการในฐานะเป็นผู้ผลิต และกระทรวงมหาดไทยซึ่งดูแลองค์การบริการส่วนท้องถิ่นทั้ง อบต.และ อบจ. โดยจะรับเด็กที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่อยู่ในตำบล เข้าเรียนแพทย์ เมื่อจบแล้วจะชดใช้ทุนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
นายแพทย์วิชัยกล่าวต่อว่า งบประมาณการผลิตแพทย์จะมาจาก 2 ส่วน ประกอบด้วยงบอุดหนุนการเรียนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 30,000 - 60,000 บาท ต่อคนต่อปี และงบในการผลิตจากรัฐบาลวงเงินประมาณ 300,000 บาท ต่อคนต่อปี เป้าหมายเบื้องต้นจะผลิตให้ตำบลห่างไกลและตำบลขนาดใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันการผลิตแพทย์ 19 แห่ง จากนั้นจะนำข้อสรุปเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และจะประสานรัฐมนตรีทั้ง 3 กระทรวง เพื่อลงนามในบันทึกข้อตกลงในการผลิตหมอในโครงการดังกล่าวต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2556
************************************ 23 มกราคม 2555