วันนี้ (21 ธันวาคม 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในพิธีส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข จากสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่น (Japan International Cooperation) หรือไจก้า (JICA) โดย ฯพณฯ นายเซอิจิ โคจิมะ (H.E. Mr.Seiji Kojima) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันโรคไข้เลือดออกที่อาจเกิดการแพร่ระบาดหลังน้ำลด หากไม่มีการป้องกันควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ

วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ไจก้ามอบให้กระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ รวมทั้งหมด 5รายการ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,692,000 บาท ประกอบด้วย 1. เครื่องพ่นสารเคมียูแอลวี (ULV) ชนิดสะพายหลัง ใช้มือโยก จำนวน 20 เครื่อง 2.เครื่องพ่นหมอกควันทีเอฟ (TF) 35 จำนวน10เครื่อง 3.ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย5,000กิโลกรัม 4.น้ำยาฉีดพ่นยุงซูมิไธออน120ลิตร และ5.มุ้งกันยุง จำนวน 1,000หลัง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะนำเครื่องพ่นยูแอลวีและเครื่องพ่นหมอกควันมอบให้กับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่อยู่ในภูมิภาค 12 เขต รวมทั้งกทม. และสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง และจะมอบเครื่องพ่นหมอกควันมอบให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่จังหวัดชลบุรี ขอนแก่น นครสวรรค์ เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สงขลา กทม.และสำนักงานโรคติดต่อนำโดยแมลง ส่วนทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย จะแจกจ่ายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร 4,000 กิโลกรัม จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดนครปฐม 600 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือจะมอบให้กรมควบคุมโรค เพื่อใช้ในการกำจัดยุงและลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกต่อไป
 
นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทย มีความสัมพันธ์ ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านงานวิจัย และความร่วมมือทางเศรษฐกิจมายาวนาน เครื่องมือและวัสดุที่ไจก้ามอบให้กระทรวงสาธารณสุขไทยครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกหลังน้ำลดได้ดียิ่งขึ้น  สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยครั้งนี้ มีจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม 65 จังหวัด พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่ระดับน้ำลดลงสู่ภาวะปกติเข้าสู่ระยะพื้นฟู เหลืออีก 8 จังหวัดที่ยังมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร และกทม. กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยเพิ่มความเข้มข้นการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคหลังน้ำลด 8 โรค ได้แก่ ตาแดง เลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู ไข้ไม่ทราบสาเหตุ ไข้เลือดออก อุจจาระร่วง โรคมือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม รวมทั้งเร่งปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และกำจัดสัตว์และแมลงที่เป็นพาหะนำโรค เช่นหนู แมลงวัน และยุง  
 
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวอีกว่า ขณะนี้สามารถป้องกันควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี พบผู้ป่วยประปราย ไม่มีการระบาดของโรคที่แตกต่างจากภาวะปกติแต่อย่างใด โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รายงานผลการเฝ้าระวังโรคที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษในสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดที่ประสบอุทกภัย 33 จังหวัด ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน - 6 ธ้นวาคม 2554 พบผู้ป่วยตาแดง 363 ราย โรคฉี่หนู 5 ราย ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 651 ราย ไข้เลือดออก 87 ราย อุจจาระร่วง 5,266 ราย โรคมือเท้าปาก 33 ราย ไข้หวัดใหญ่ 57 ราย และปอดบวม 456 ราย แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ  
************************************************* 21 ธันวาคม 2554
 


   
   


View 13       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ