สาธารณสุขกำหนดหยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้งเด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า 15 ปี ฟรี พร้อมกันทั่วประเทศ รวม 1.3 ล้านคน รอบที่ 1 ในวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ในพื้นที่ 36 จังหวัด 151 อำเภอ เพื่อรักษาพื้นที่ทั่วไทยปลอดโรคโปลิโออย่างถาวร ยกเว้น 5 พื้นที่น้ำท่วม ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ลพบุรี และกทม.จะเริ่มรอบที่ในวันที่ 18 มกราคม 2555
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลอดจากโรคโปลิโอตามนโยบายขององค์การอนามัยโลก ซึ่งไทยไม่พบผู้ป่วยโรคโปลิโอติดต่อกันมาแล้ว 14 ปี อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคติดต่อในเด็กที่ติดกันทางอาหารและน้ำดื่ม และยังมีรายงานผู้ป่วยในประเทศในเอเชีย ซึ่งอาจจะแพร่กระจายเข้ามาในประเทศได้ จึงคงนโยบายรณรงค์หยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในพื้นที่เสี่ยงต่อไป เพื่อคุ้มครองสุขภาพเด็กไทยและทำให้พื้นที่ไทยปลอดภัยโรคโปลิโออย่างถาวร
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โปลิโอเป็นโรคติดต่อ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทานหรือมีแต่ไม่สูงมากพอ โดยเชื้อจะออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ และติดที่มือหรือปนเปื้อนในอาหาร ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อได้ โดยมีผู้ติดเชื้อประมาณร้อยละ 5-10 จะแสดงอาการป่วยให้เห็น คือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มีอาการตึงกล้ามเนื้อที่คอด้านหลัง ลำตัวและขา ผู้ที่มีอาการรุนแรง จะมีอัมพาตของแขนหรือขา ในรายที่อาการรุนแรงมาก กล้ามเนื้อกระบังลมที่ช่วยในการหายใจอาจเป็นอัมพาต ทำให้เสียชีวิตได้ ไทยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อพ.ศ.2540 ส่วนสถานการณ์โรคโปลิโอทั่วโลก ในปี 2554 พบทั้งหมด 553 ราย ใน 12 ประเทศ โดยมีรายงานเป็นโรคประจำถิ่นใน 4 ประเทศ รวม 265 ราย ได้แก่ ปากีสถาน 161 ราย อัฟกานิสถาน 58 ราย ไนจีเรีย 45 ราย และอินเดีย 1 ราย แต่แนวโน้มลดลงจากปี 2553 โดยการหยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในเด็กไทยในระบบปกติคืออายุ 2 เดือนขึ้นไป ขณะนี้มีความครอบคลุมสูงมากกว่าร้อยละ 90 สูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การนามัยโลกกำหนดคือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
ทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในปีนี้ กรมควบคุมโรค ได้กำหนดวันรณรงค์หยอดวัคซีนโปลิโอเสริมแก่เด็ก 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 14 ธันวาคม 2554 และครั้งที่ 2 วันที่ 18 มกราคม 2555 โดยยกเว้นใน 5 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ลพบุรี และกรุงเทพมหานคร เนื่องจากยังมีปัญหาน้ำท่วมขัง จะกำหนดให้ครั้งที่ 1 เป็นวันที่ 18 มกราคม 2555 และครั้งที่ 2 คือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 โดยตั้งเป้าหยอดให้เด็กไทยกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี และเด็กต่างชาติอายุต่ำกว่า 15 ปีในพื้นที่เสี่ยง รวมประมาณ 1.3 ล้านคน ได้เตรียมวัคซีนทั้งหมด 3.2ล้านโด๊ส
นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า เป้าหมายการรณรงค์ครั้งนี้ จะเน้นเป็นพิเศษในพื้นที่เสี่ยง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.อำเภอในจังหวัดที่มีความยากลำบากในการให้วัคซีนตามระบบปกติหรือมีการเคลื่อนย้ายประชากรสูง ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และกทม. 2.อำเภอที่ติดชายแดนพม่า 3.อำเภอที่มีชาวพม่าอาศัยอยู่เป็นชุมชนขนาดใหญ่และ4.อำเภอที่มีรายงานเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีป่วยเป็นโรคคอตีบหรือหัดในช่วง พ.ศ.2551-2553 ซึ่งถือเป็นดัชนีชี้วัดความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในพื้นที่ รวมพื้นที่รณรงค์ทั้งหมด 36 จังหวัด จำนวน 151 อำเภอและกทม.ประชาชนในพื้นที่รณรงค์ดังกล่าว ให้พาบุตรหลานปรับการหยอดวัคซีนฟรี หรือสอบถามข้อมูลที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เด็กที่เคยหยอดแล้วหยอดซ้ำได้ ไม่เป็นอันตราย
*********13 ธันวาคม 2554
View 9
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ