กระทรวงสาธารณสุขสนองพระกระแสรับสั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงห่วงผลกระทบสุขภาพจากปัญหาเชื้อราหลังน้ำท่วมบ้านให้สถาบันโรคผิวหนังเก็บตัวอย่างตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้นพบเป็นเชื้อราชนิดที่ไม่ก่อโรคโดยจะเฝ้าระวังต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายแนะประชาชนให้ยึดหลักปลอดภัย 3ประการ ขณะล้างทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าจากการเฝ้ารับเสด็จฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จ.นครราชสีมาเมื่อวันที่ 29พฤศจิกายน 2554ที่ผ่านมา ทรงห่วงใยสุขภาพของประชาชน จากปัญหาเชื้อราที่ขี้นอยู่ในบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมขัง เนื่องจากทุกบ้านประสบทั้งหมด ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มีหน่วยงานศึกษาว่าเป็นเชื้อราที่มีอันตราย มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่
นายวิทยากล่าวว่า นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่คนไทยและกระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงสาธารณสุขได้น้อมใส่เกล้า และได้ให้สถาบันโรคผิวหนัง เร่งดำเนินการตรวจสอบชนิดและอันตรายของเชื้อราที่ขึ้นตามบ้านเรือนหลังน้ำท่วมเป็นการด่วนเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบและป้องกันดูแลตัวเองอย่างปลอดภัยหลังเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนผลการเก็บตัวอย่างเชื้อราหลายแห่ง ทั้งในอาคารบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม พื้นผนังที่มีคราบเชื้อราเบื้องต้นพบว่าเป็นเชื้อราชนิดที่ไม่ก่อโรคโดยจะให้สถาบันโรคผิงหนังเฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างราตรวจอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โดยปกติ เชื้อราสามารถพบได้ตามธรรมชาติทั่วไป ทั้งในดิน น้ำ อากาศ เมื่อเกิดน้ำท่วมขังในอาคารบ้านเรือนจะเกิดความชื้นสะสมในอาคารและสิ่งแวดล้อมเมื่อมีความชื้นสูงและอากาศร้อนอบอ้าวจะทำเชื้อราเจริญเติบโตได้ดี โดยในโลกมีเชื้อราประมาณ 1แสนชนิด ส่วนมากเป็นเชื้อราในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อโรค โดยมีประมาณ100ชนิดที่สามารถก่อโรคผิวหนัง ในคนที่มีสุขภาพปกติที่พบบ่อย เช่นโรคกลาก เกลื้อน และมีเชื้อราประมาณ400ชนิดที่สามารถก่อโรคได้หากมีปัจจัยเอื้อต่อกัน ได้แก่ ปัจจัยจากคน โดยเฉพาะผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ มีความต้านโรคต่ำ เช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างใช้เคมีบำบัด ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน มะเร็ง โรคตับ โรคไต โรคปอด หรือเกิดในคนที่ผิวหนังเสียรูปจากถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกผู้ที่ได้รับบาดเจ็บถูกเสี้ยนตำ หนามตำหรือคนที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ดังนั้นหลังน้ำท่วม อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือเกิดโรคปอดอักเสบจากเชื้อรา จากการสูดสปอร์เชื้อราเข้าไปได้ แต่จากการเฝ้าระวังผู้ป่วย ยังไม่พบผู้ป่วยจากเชื้อราหลังน้ำท่วม
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่จะเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือน หลังน้ำลด ขอให้ยึดหลักปฏิบัติ 3ประการดังนี้ 1.ควรเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ 1-2 วัน เพื่อระบายอากาศและไล่ความอับชื้น และให้แสงแดดส่อง ช่วยจะช่วยฆ่าเชื้อราด้วย 2.ใส่เสื้อผ้าและเครื่องป้องกันตัวอย่างเหมาะสม ใส่รองเท้า ถุงมือยาง หมวกคลุมผม สวมแว่นตาและคาดหน้ากากอนามัย หน้ากากที่ป้องกันการสูดสปอร์เชื้อราที่ดีที่สุดคือชนิดเอ็น 95แต่หากไม่มีสามารถใช้หน้ากากผ้าที่มีจำหน่ายทั่วไปก็ได้ 3.การขัดล้างขั้นแรก ให้เริ่มล้างด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกก่อน จากนั้นจึงใช้น้ำยาขัดล้าง ซึ่งจะมีคลอรีนสามารถฆ่าเชื้อราได้ แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดตามอีกและปล่อยให้แห้ง ****************** 2 ธันวาคม 2554
View 7
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ