องค์การอนามัยโลก เลือกประเทศไทย รณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกปี 2550 นี้ โดยกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ในตลาดสดทั่วไทย ซึ่งมีกว่า 1,500 แห่ง เพื่อคุ้มครองสุขภาพพ่อค้าแม่ค้าและผู้มาจับจ่ายสินค้า คาดออกประกาศได้ปลายปีนี้ วันนี้ (23 มีนาคม 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ปัญญา สอนคม ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังการสรุปผลการดำเนินงาน โครงการเสริมสร้างภูมิชีวิตพิชิตบุหรี่ในเพศบรรพชิต ระยะที่ 1 ซึ่งมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้วัด และชุมชนรอบบริเวณวัดปลอดบุหรี่ นำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ อ.ภูพาน จ.สกลนคร อ.กุดชุมและอ.มูลทราย จ.ยโสธร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และอ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง พร้อมทั้งมอบวุฒิบัตรแก่เจ้าอาวาสวัดปลอดบุหรี่ต้นแบบ และผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรวิทยากรรณรงค์เพื่อวัดปลอดบุหรี่ จำนวน 32 คน นายแพทย์ปัญญากล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 17 เรื่องการกำหนดสถานที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ ฉบับล่าสุดที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 ได้ประกาศพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 21 ประเภท ซึ่งรวมถึงวัด ศาสนสถาน หรือสถานที่ประกอบศาสนกิจในนิกายหรือศาสนาอื่น ๆ เฉพาะบริเวณประกอบศาสนกิจ เช่นในโบสถ์ มัสยิด และศาลาการเปรียญ เป็นเขตห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด ส่วนนอกบริเวณที่ประกอบศาสนพิธีในภาพรวมก็กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ แต่สามารถจัดเขตสำหรับสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะได้ ตามเงื่อนไขและมาตรฐานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด เช่น ไม่อยู่บริเวณทางเข้าออก บริเวณที่รบกวนผู้อื่น และบริเวณที่เห็นเด่นชัด เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการควบคุมบุหรี่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากแคนาดา ในปีนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งว่าองค์การอนามัยโลก จะมารณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม - 1 กรกฎาคม 2550 ในวันดังกล่าวนายกรัฐมนตรีและแพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกจะประกาศเจตนารมณ์เรื่องพิษภัยบุหรี่ จึงเป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่จะได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก นายแพทย์ปัญญา กล่าวต่อว่า การที่มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ได้รณรงค์นำร่องวัดต้นแบบและชุมชนให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยลงลึกถึงพระภิกษุสามเณร และคนในชุมชนให้ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ ด้วยความตั้งใจ สมัครใจ จึงถือเป็นการต่อยอด ทำสิ่งที่ดีให้ดียิ่งขึ้นไปอีกขั้น กระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เนื่องจาก จากการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ที่ผ่านมา จะพบโรคปอดอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง พบมากในพระที่ชราภาพ เพราะสมัยก่อนคนไทยมีค่านิยมถวายบุหรี่พระ โดยที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะเป็นการถวายความตายให้พระ นายแพทย์ปัญญากล่าวต่อไปว่า สำหรับในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการขยายการประกาศเขตปลอดบุหรี่ไปถึงตลาดสดด้วย ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 1,500 แห่ง เพื่อคุ้มครองสุขภาพคนไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากตลาดสดเป็นสถานที่สาธารณะที่ประชาชนจำนวนมากต้องมาจับจ่ายสินค้าเป็นประจำ รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่แผงตลอดวัน คาดว่าจะจะประกาศใช้ได้ปลายปีนี้ รวมทั้งกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการประกาศเขตปลอดบุหรี่ครอบคลุมถึงร้านเหล้า ผับ และบาร์ ด้วย ทั้งนี้ โรคที่มากับควันบุหรี่ ที่สำคัญคือโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ และโรคถุงลมโป่งพอง และโรคอื่น ๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 25 โรค จากการสำรวจการสูบบุหรี่ของคนไทยอายุ 15 ปีทั่วประเทศครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2547 พบผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ เป็นชายร้อยละ 46 เฉลี่ยสูบวันละ 12 มวน ผู้หญิงร้อยละ 2 เฉลี่ยวันละ 8 มวน ส่วนใหญ่พบอายุ 30-59 ปี โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องพิมพ์ฉลากข้อความบอกชื่อสารพิษ 2 ชนิดคือ คาร์บอนมอนอกไซด์และไซยาไนด์ และสารก่อมะเร็ง 3 ชนิด คือทาร์ ฟอร์มาลดีไฮด์ และไนโตรซามีนไว้ที่ข้างซองบุหรี่ พิมพ์ข้อความและภาพคำเตือนเป็นภาพ 4 สี ตามที่ปรับเปลี่ยนและเพิ่มใหม่บนซองบุหรี่จาก 6 ภาพเป็น 9 ภาพ และระบุแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ข้อความ “สำหรับขายในราชอาณาจักรไทย” รวมทั้งห้ามพิมพ์ข้อความว่า รสอ่อนหรือไมด์ (Mild) รสกลาง ๆ หรือเรียกว่า มีเดียมไลท์ (Medium Light) และรสอ่อนสุด หรืออัลทร้าไลท์ (Ultralight) และชนิดโลว์ทาร์ (Low tar) ซึ่งหมายถึงมีน้ำมันดินต่ำ ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ร้องเรียนผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายบุหรี่ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของสถานที่ และประชาชนที่สูบบุหรี่ ที่หมายเลข 0-2590-3342 และ 0-2590-3110 ในวันและเวลาราชการ โดยประชาชนที่สูบในที่ห้ามสูบมีโทษปรับ 2,000 บาท ส่วนเจ้าของสถานที่จะถูกปรับ 20,000 บาท ทั้งนี้ตั้งแต่ปลายปี 2548 – กุมภาพันธ์ 2550 ประชาชนร้องเรียนกว่า 1,500 ครั้ง เรื่องร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ 479 ครั้ง รองลงมาได้แก่ วางโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย 323 ครั้ง จำหน่ายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 98 ครั้ง ได้รับความรำคาญจากการสูบบุหรี่ของบุคคลอื่น 50 ครั้ง และจำหน่ายสินค้าที่แสดงตรายี่ห้อบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบ 27 ครั้ง ***************************** 23 มีนาคม 2550


   
   


View 12    23/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ