รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประสานกระทรวงการต่างประเทศ นำเข้าเซรุ่มแก้พิษงูเขียวแมมบ้า ถึงไทยวันพรุ่งนี้ แนะประชาชนเพิ่มความระมัดระวังช่วงน้ำท่วมอาจมีสัตว์หลบมาอาศัยตามซอกหลืบ กองสิ่งของต่างๆ ในบ้าน และหากถูกงูกัด ให้สังเกตรอยเขี้ยว หากเป็นงูพิษจะมีรูเขี้ยว 1 2 เขี้ยว ให้ใช้ผ้า เชือก หรือแผ่นยางรัดเหนือแผล ป้องกันพิษวิ่งเข้าหัวใจ และส่งโรงพยาบาลทันที      

   จากกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวว่า มีงูกรีนแมมบ้า (Green mamba)ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในแอฟริกา จำนวน 15ตัว หลุดจากบ้านถูกน้ำท่วมย่านปากเกร็ดจ.นนทบุรี งูดังกล่าวสีเขียว ลำตัวยาว 1-2 เมตร มีพิษร้ายแรงมากและในประเทศไทยยังไม่มีเซรุ่ม โดยเป็นการโพสเฟซบุ๊กและแชร์ต่อๆกันตั้งแต่เช้าวานนี้ (2พฤศจิกายน 2554) นั้น
 
                    ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีดังกล่าวเป็นข่าวที่เผยแพร่จากสังคมออนไลน์และบอกเล่าปากต่อปาก ยังไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าว อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานกระทรวงการต่างประเทศให้นำเข้าเซรุ่มแก้พิษงูดังกล่าว จะถึงเมืองไทยในวันพรุ่งนี้ แม้ว่างูเขียวแมมบ้านี้ ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานพบผู้ป่วยถูกงูชนิดนี้กัดก็ตาม ซึ่งเซรุ่มแก้พิษงูที่กระทรวงสาธารณสุขสำรองในช่วงน้ำท่วมขณะนี้ มี 7 ชนิดตามชนิดของงูที่พบบ่อยในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ รวมจำนวน 3,500 ขวด
 
    ทั้งนี้ ขอให้ระมัดระวังเนื่องจากในช่วงน้ำท่วม สัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งงูจะหนีน้ำเอาชีวิตรอด อาจขึ้นไปอาศัยตามต้นไม้หรือตามบ้านเรือนได้ ฉะนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ และดูแลบ้านเรือนให้เรียบร้อย พยายามหลีกเลี่ยงการล้วงหยิบสิ่งของตามซอกมุมต่างๆ เพราะในสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ส่วนใหญ่จะยกสิ่งของขึ้นไปเก็บไว้ในที่สูงหรือบนชั้น 2 ของบ้าน ทำให้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์ต่างๆได้
 
                   ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ที่ถูกงูกัดขอให้จดจำลักษณะของงูที่กัด หรือตีให้ตายแล้วนำซากไปให้แพทย์ดู เพื่อให้เซรุ่มได้ตรงกับชนิดงู และให้สังเกตลักษณะรอยแผล หากเป็นงูพิษจะมีรอยเขี้ยวงู 1 - 2 เขี้ยว ส่วนงูไม่มีพิษจะเป็นรอยฟันเรียงกันเป็นแถว หรืออาจเป็นเพียงรอยถลอก ไม่มีจุดเขี้ยว พิษของงูจะออกมาจากต่อมน้ำพิษที่เชื่อมติดกับเขี้ยวเข้าสู่บาดแผล มักมีอาการปรากฎภายใน 10-15 นาที
 
 วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูพิษกัด สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้พิษงูเข้าสู่หัวใจหรือแพร่ไปทั่วร่างกายโดยให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนนิ่งๆ ปลอบใจให้คลายความตื่นเต้นและใช้ผ้า เชือก หรือแผ่นยางที่มีความกว้างประมาณ 2 นิ้ว รัดเหนือบาดแผลขึ้นไป 5-10 เซนติเมตรให้แน่นพอดี คลายทุก 10-15 นาทีเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อตาย ซึ่งวิธีนี้ไม่ค่อยนิยมใช้ในปัจจุบัน แต่แนะนำว่าให้ส่วนที่ถูกกัดอยู่นิ่งๆแล้วรีบนำส่งแพทย์ ขณะส่งจัดอวัยวะที่ถูกงูกัดให้ต่ำกว่าหัวใจ คอยปลุกให้ตื่นตลอดเวลา อย่าให้ดื่มสุราหรือยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจเพราะพิษงูจะแพร่ไปทั่วร่างกาย   

                
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในไทยงูเขียวมีพิษจะเป็นงูเขียวหางไหม้ พบได้ทั่วประเทศลักษณะจะมีหัวเป็นรูปสามเหลี่ยมหางสั้นมีสีแดงลำตัวเขียวตัวจะเล็กและสั้นกว่างูเขียวแมมบ้า มีพิษต่อเลือดทำให้บวมปวดที่แผล จากนั้นผิวหนังจะเปลี่ยนสีเป็นคล้ำขึ้น เป็นเม็ดพอง ส่วนงูเขียวแมมบ้า รายงานจากต่างประเทศ เป็นงูที่มีพิษต่อระบบประสาท หลังถูกกัดจะมีอาการง่วงซึม ตาปรือ เดินไม่ไหวเหมือนไม่มีแรง หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น พูดจาอ้อแอ้ กลืนน้ำลายไม่สะดวก หายใจลำบาก และเป็นอัมพาต เสียชีวิตเพราะหยุดหายใจ
 
***************************** 3 พฤศจิกายน 2554


   
   


View 19       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ