รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เตรียมรับมือพายุโซนร้อนไห่ถาง ป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาล สำรองจุดบริการนอกโรงพยาบาล จัดหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน และหมายเลขโทรศัพท์รับแจ้งเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ให้ทุกจังหวัดติดป้ายเตือนเขตอันตรายน้ำท่วม ส่วนยอดผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมถึงวันนี้เฉียด 4 แสนราย
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า วันนี้ (27 กันยายน 2554) ได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ เตรียมความพร้อมรับมือพายุโซนร้อนไห่ถาง (Haitang) ในวันที่ 27-28 กันยายน 2554 โดยให้ปฏิบัติตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้น้ำท่วมสถานพยาบาล สำรองจุดบริการนอกโรงพยาบาล จัดหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายวิทยา กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทุกแห่ง เร่งให้ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการเดินทาง เพื่อลดการเสียชีวิต เนื่องจากจนถึงวันนี้ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นถึง 166 ราย สาเหตุเกือบร้อยละ 90 เกิดจากการจมน้ำ โดยให้ประสานหน่วยงานท้องถิ่น ให้จัดทำป้ายเตือนเขตอันตรายน้ำท่วม เช่นจุดน้ำไหลเชี่ยว น้ำลึก เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงผ่านบริเวณดังกล่าว
สำหรับโรงพยาบาลบ้านแพรก อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกน้ำท่วมรอบโรงพยาบาลและบริเวณบ้านพักเจ้าหน้าที่ ระดับน้ำสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ต้องใช้รถจีเอ็มซีของทหาร รับส่งผู้ป่วยเข้าออกโรงพยาบาล ขณะนี้ยังเปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาล 7 ราย ทุกรายช่วยเหลือตนเองได้ โดยในวันนี้ได้เพิ่มจุดตรวจรักษาและดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินอีก 1 แห่ง คือที่ว่าการอำเภอบ้านแพรก ให้บริการตั้งแต่เช้าถึงเย็น นอกจากนี้ยังให้โรงพยาบาลที่อยู่ลุ่มน้ำลพบุรีอีก 3 แห่ง คือ ท่าเรือ มหาราช และสมเด็จพระสังฆราช(นครหลวง) ให้ป้องกันน้ำท่วมเต็มที่ ขณะนี้ยังให้บริการตามปกติ
ทั้งนี้ในส่วนของการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการไปแล้ว 3,011 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วยสะสมรวม 390,150 ราย โดย 5 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ นนทบุรี 75,626 ราย พิจิตร 72,762 ราย พิษณุโลก 54,929 ราย นครสวรรค์ 30,490 ราย และอ่างทอง 22,039 ราย โรคที่พบมากอันดับหนึ่งคือน้ำกัดเท้า และพบถูกแมลงกัดต่อย และงูพิษกัดรวม 358 ราย ส่วนด้านสุขภาพจิต ผลการตรวจคัดกรอง พบผู้มีความเครียดรวม 29,898 ราย ในจำนวนนี้เครียดสูง 1,475 ราย พบผู้มีอาการซึมเศร้า 3,192 ราย และผู้เสี่ยงฆ่าตัวตาย 384 ราย
******************************************** 27 กันยายน 2554