รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ จ.ชัยนาท ติดตามนโยบายจิตอาสาและโรงพยาบาลเศรษฐกิจพอเพียง ที่โรงพยาบาลหันคา พบสามารถขจัดปัญหาร้องเรียนหมดไป มีแต่คำชม เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างมีความสุข และยังใช้สารอีเอ็ม มาทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้คนป่วย พื้น ห้องน้ำ ลดการใช้น้ำยาเคมี ประหยัด ได้ผลดี จนคว้ารางวัลสุดยอดสุขาโรงพยาบาลสะอาดระดับประเทศ คาดทุ่นค่าใช้จ่ายปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท
วันนี้ (19 มีนาคม 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และดร.กาญจนา กาญจนสินิทธิ์ ผู้ตรวจราชการฯประจำเขตที่ 4-5 และคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมดูงานโครงการจิตอาสา ที่โรงพยาบาลหันคา และกิจกรรมจิตอาสา ของสถานีอนามัยบ้านไร่สวนลาว อ.หันคา จ.ชัยนาท พร้อมพบปะชาวหมออนามัยและเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน ที่ ต.บ้านเชี่ยน อ.หันคา เพื่อหารือแนวทางพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชน
นายแพทย์มงคลกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2550 กระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายให้สถานบริการทุกแห่งปฏิบัติงานโดยเน้นการมีส่วนร่วม และพัฒนาระบบบริการสุขภาพโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเริ่มโครงการจิตอาสา เปิดโอกาสให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลืองานบริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล และสถานีอนามัยทุกแห่ง ตามความสนใจและความถนัด ซึ่งจากลักษณะนิสัยพื้นฐานของคนไทยที่มีจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น จึงมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการในโรงพยาบาลและสถานีอนามัยเกือบทุกแห่ง กิจกรรมส่วนใหญ่ เป็นการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทำทะเบียนประวัติผู้ป่วย ดูแลผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในการทำกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น หลาย ๆ แห่งมีการจัดกิจกรรมหลากหลายเช่น เล่นดนตรี สนทนาธรรม ให้ผู้ป่วยและผู้มารับบริการรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ ถือเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นกุศลเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับโรงพยาบาลหันคา จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง มีผู้ป่วยนอกรับบริการเฉลี่ยวันละ 275 ราย มีอาสาสมัครจิตอาสาหลายกลุ่ม ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มบ้านสามวัย ซึ่งสมาชิกมีทั้งผู้สูงอายุ หนุ่มสาววัยทำงานและนักเรียน รวมทั้งกลุ่มชีวิตใหม่ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี อาสามาทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลด้วยใจ ทำให้ในปี 2550 โรงพยาบาลไร้ปัญหาร้องเรียน จากก่อนหน้านี้มีร้องเรียนปีละกว่า 20 เรื่อง ผู้รับบริการเข้าใจระบบการทำงานของหมอพยาบาล มีความพึงพอใจสูงถึง 87 เปอร์เซ็นต์ จึงมีแต่คำชม เจ้าหน้าที่มีความสุขในการทำงานสูงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากโรงพยาบาลทั้งหมดทำเช่นนี้ คาดว่าจะลดปัญหาร้องเรียนได้
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในด้านการบริหารจัดการของโรงพยาบาลหันคา ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น มีการวิเคราะห์งบประมาณรายรับ/รายจ่ายของโรงพยาบาลทุกเดือน การลงทุนต่างๆ คำนึงถึงความประหยัด คุ้มค่า โดยผ่านคณะกรรมการพิจารณาก่อน และได้นำจุลินทรีย์ชีวภาพหรือสารอีเอ็ม (EM) มาใช้ทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้ ซักฟอกผ้า ก่อนนำไปฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดพื้นโรงพยาบาลและห้องสุขา ใช้ในการกำจัดขยะ บำบัดน้ำเสียและดูแลต้นไม้ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการสัมผัสสารเคมีของบุคลากร พบว่าได้ผลดีมาก โรงพยาบาลไม่มีกลิ่นเหม็น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำยาเคมีกำจัดกลิ่น รวมทั้งมีการปรับปรุงสุขาเดิมให้น่าใช้ ตามหลักเพียงพอ สะอาดและปลอดภัย ได้นำลูกมะกรูดมาใช้ในการกำจัดกลิ่นและป้องกันการเกิดลูกน้ำ อีกทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจ้างคนมาทำความสะอาดเพิ่ม ไม่ต้องซื้อน้ำยา ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมีทำความสะอาดต่างๆ ในปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท โดยผลงานดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลหันคาได้รับรางวัลสุขาสะอาด ที่ 1 ระดับประเทศ
ทางด้านดร.กาญจนา กาญจนสินิทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ เขต 4-5 กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลหันคา มีผู้สูงอายุที่สุขภาพดี จากกลุ่มบ้าน 3 วัยจำนวน 10 คน อายุมากที่สุด 75 ปี มานำผู้ป่วยเบาหวาน ให้ออกกำลังกายด้วยไม้พลอง กลองยาว ระหว่างรอผลการตรวจเลือดที่คลินิกโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทุกเช้าวันพุธเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน และกลุ่มชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี มีสมาชิก 3 คน อาสาเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ตั้งแต่การรับผู้ป่วย จัดทำทะเบียนประวัติ จ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ ให้คำแนะนำการใช้ยา ให้คำปรึกษา เยี่ยมบ้านติดตามผลการรักษาและผู้ป่วยที่ขาดนัด รวมทั้งฝึกอาชีพเพื่อให้มีรายได้ เช่น ทำอิฐก้อนซีแพค ผ้าเช็ดเท้า กะลาคว่ำบริหารเท้า มีกลุ่มอสม.มาช่วยแพทย์ พยาบาล ในการค้นหา และดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่คลินิกชุมชนในเขตเทศบาล ทุกวันอังคารที่ 1 และ 3 ของเดือน
ด้านนายแพทย์จักราวุธ เผือกคง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหันคา กล่าวว่า ในระยะต่อไป โรงพยาบาล หันคาจะมีนักเรียนจากกลุ่มบ้านสามวัย อาสามาบรรเลงดนตรีไทยให้ผู้ใช้บริการที่ตึกผู้ป่วยนอกได้เพลิดเพลิน ผ่อนคลายความเครียดขณะรอตรวจทุกสัปดาห์ และจะเปิดรับประชาชน เยาวชน นักเรียนเข้าร่วมโครงการจิตอาสาให้มากขึ้นตามความถนัด เช่น ช่วยงานประชาสัมพันธ์ ช่วยดูแลผู้ป่วยระหว่างรอรับบริการที่ตึกผู้ป่วยนอก นอกจากนี้โรงพยาบาลจะจัดกลุ่มจิตอาสาออกเยี่ยมบ้าน ให้คำปรึกษา ติดตามดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิตของผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่บ้านโดยลำพัง เพราะลูกหลานไปทำงานที่อื่น กลุ่มชายหญิงวัยทอง และกลุ่มผู้พิการด้วย
สำหรับสถานีอนามัยบ้านไร่สวนลาว ซึ่งดูแลชาวบ้าน 4,230 คน ใน 6 หมู่บ้าน 1,116 หลังคาเรือน มีอาสาสมัครสาธารณสุข 99 คน มีกิจกรรมจิตอาสาที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของวัด โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน โดยวัดไกลกังวล ได้บริจาคที่ดินในการสร้างสถานีอนามัย และพัฒนาสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์การแพทย์แก่สถานีอนามัยเมื่อปี 2539 เป็นเงินกว่า 3,000,000 บาท และส่งเสริมพัฒนาจิตใจ โดยหลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโธ เจ้าอาวาส จะเดินจากวัดมาสนทนาธรรมกับเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านที่สถานีอนามัย สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 3 วันนานกว่า 10 ปี มีกิจกรรมดนตรีอาสาจากนักเรียนในชุมชน บรรเลงดนตรีไทยในคลินิกเด็กดีทุกวันพุธที่ 2 และในคลินิกผู้สูงอายุทุกวันศุกร์ที่ 3 มีอสม.และชาวบ้านอาสาช่วยการทำงานของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย วันละไม่ต่ำกว่า 10 คน เช่น การค้นแฟ้มประวัติ จัดคิวผู้รับบริการ วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง จัดยา เตรียมผ้าก็อซ สำลี ห่อเครื่องมือเครื่องใช้ และนึ่งฆ่าเชื้อโรค เจาะเลือดตรวจหาน้ำตาลในเลือด ดูแลความสะอาด และพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์สถานีอนามัย จัดสวนหย่อม ปลูกต้นไม้ ดอกไม้
*************************** 19 มีนาคม 2550
View 10
19/03/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ