กระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กและเยาวชนไทยตกเป็นเหยื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งวงดวดกับเพื่อนหนักขึ้นอาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง และ 1 ใน 3 กระทำผิดคาวงดวด อีกร้อยละ 40 อาละวาดหลังดวด จนต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจเด็ก อันดับ 1 จากทำร้ายร่างกาย รองลงมาคือคดีโทรมหญิง เร่งผลักดันพระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น
บ่ายวันนี้ (19 มีนาคม 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมยศ เจริญศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหาร เดินทางไปเยี่ยมศูนย์อบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. เพื่อติดตามผลกระทบจากเหล้าที่เป็นต้นเหตุให้เด็กและเยาวชนกระทำความผิด และหารือ แนวทางการป้องกันเด็กและเยาวชนให้ห่างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายแพทย์มรกต กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยเป็นปัญหาที่สำคัญ และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อคนในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาสังคม ได้แก่ การทะเลาะวิวาท ปัญหาครอบครัว และการกระทำผิดกฎหมาย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2547 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์กว่า 20 ล้านคน โดยผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง กลุ่มวัยแรงงานอายุ 25-29 ปี ดื่มมากที่สุด รองลงมากลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี คาดว่าในอนาคตจำนวนผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มขึ้นในทุกเพศและกลุ่มอายุ โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 5.6 ภายใน 7 ปีนี้ วัยรุ่นไทยดื่มหนักขึ้นมากกว่า 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
โดยจากการศึกษาพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดของเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมาย และถูกศาลสั่งให้เข้าฝึกอบรมฯ ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปี 2548 ซึ่งมีทั้งหมด 6,000 กว่าคน อายุระหว่าง 7-18 ปี ในจำนวนเด็กที่ทำผิดนี้เคยดื่มสุรา ร้อยละ 85 โดยร้อยละ 35 กระทำผิดในระหว่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเมื่อจำแนกตามฐานความผิด พบว่าร้อยละ 40-50 ก่อคดีรุนแรงจากการทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บและเสียชีวิต และคดีทางเพศ โดยร้อยละ 41 กระทำผิดหลังจากดื่มสุราไม่ถึง 5 ชั่วโมง ทั้งนี้เหตุที่เกิดขึ้นร้อยละ 77 เกิดจากสถานการณ์พาไปเพราะเมา นอกจากนี้ยังพบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เด็กและเยาวชนเคยดื่มมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ เบียร์ เยาวชนเคยดื่มมากที่สุดถึงร้อยละ 90 รองลงมาคือวิสกี้/บรั่นดี ร้อยละ 77 ส่วนเหล้าขาว/ยาดองเหล้า มีเพียงร้อยละ 58 และพบว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อการดื่มมากที่สุด
นายแพทย์มรกต กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก อนาคตของเยาวชนนับวันจะเข้าใกล้เหล้ามากขึ้น สังคมจึงต้องช่วยกันแก้ไขอย่างจริงจัง กระทรวงสาธารณสุขจะเดินหน้าในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้สุขภาพประชาชนไทยถูกทำลาย และปกป้องความปลอดภัยให้คนไทยทั้งประเทศ 65 ล้านคน ให้ได้รับความปลอดภัย โดยจะเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันพุธที่จะถึงนี้
ทั้งนี้สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ จะเกี่ยวข้องทั้งการควบคุมการซื้อ-ขาย เพื่อลดการบริโภค แต่ไม่ได้ห้ามคนไม่ให้ดื่มเหล้า โดยมีการกำหนดอายุของผู้ซื้อต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป กำหนดสถานที่ขายในวงจำกัด รวมไปถึงการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีเป้าหมายสร้างค่านิยมให้เยาวชน ยอมรับค่านิยมที่ไม่ถูกต้องว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติ ดื่มแล้วทำให้สนุกสนาน สร้างมิตรภาพ มีเสน่ห์ เพิ่มความหรูหรามีระดับ ซึ่งเยาวชนจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการขยายตลาดน้ำเมา จากการโฆษณาที่ว่านี้
********19 มีนาคม 2550
View 13
19/03/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ