กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดสรรงบประมาณจำนวนกว่า 2 ล้านบาท สร้างสถานีอนามัยหลังใหม่ประจำบ้านสันติ 2 ดูแลสุขภาพประชาชน 2 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชากรกว่า 2,000 คน และเป็นพื้นที่มีพบผู้ป่วยโรคมาลาเรียมาก บ่ายวันนี้ (19 มีนาคม 2550) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จแทนพระองค์ไปทรงวางศิลาฤกษ์สถานีอนามัยบ้านสันติ 2 หมู่ที่ 6 ตำบลแม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา โดยมีนายแพทย์สุวัจน์ เทียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พันโทสิทธิพร ปาละกูล ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 5 กองร้อยที่ 3 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา และข้าราชการเฝ้าฯ รับเสด็จ สถานีอนามัยบ้านสันติ 2 นี้ กระทรวงสาธารณสุขก่อสร้างเพื่อทดแทนอาคารหลังเดิม ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียว สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2524 มีอายุใช้งานมานาน 24 ปี อยู่ในสภาพชำรุด ต้องใช้บ้านพักของเจ้าหน้าที่หลังเก่าเป็นที่ทำการชั่วคราวตั้งแต่ พ.ศ. 2548 โดยในปี 2547 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณ จากงบลงทุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 1,897,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารทำการหลังใหม่ทดแทน เป็นอาคาร 2 ชั้น แต่ไม่สามารถก่อสร้างได้ และเพิ่มวงเงินก่อสร้างเป็น 2,568,000 บาท แต่ไม่มีผู้รับจ้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ห่างไกลตัวเมือง ห่างจาก อ.ธารโต ประมาณ 70 กิโลเมตร และมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรเมื่อวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ทรงเห็นว่าอาคารมีขนาดเล็กและทรุดโทรม ไม่สามารถให้บริการแก่ราษฎรในพื้นที่ได้สะดวก และเพียงพอต่อความต้องการ ทรงมีพระราชดำริให้ทหารช่างมาช่วยดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้เวลาก่อสร้าง 300 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ระหว่างที่ก่อสร้างนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังคงให้บริการประชาชน โดยใช้บ้านพักเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยหลังใหม่ให้บริการชั่งคราว มีเจ้าหน้าที่ประจำการ 3 คน สถานีอนามัยบ้านสันติ 2 รับผิดชอบ 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 9 จำนวน 466 หลังคาเรือน ประชากร 2,054 คน เป็นเพศชาย 1,071 คน หญิง 983 คน นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 90 ที่เหลือนับถือศาสนาพุทธ ต่อวันมีประชาชนเจ็บป่วยและใช้บริการเฉลี่ยวันละ 7-8 ราย โรคที่เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัด และโรคมาลาเรีย เนื่องจากพื้นที่เป็นป่าเขา สภาพอากาศมีความชื้นสูง โดยจังหวัดยะลาเป็นพื้นที่ที่พบโรคมาลาเรียมากที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2548 มีผู้ป่วย 683 ราย และในปี 2549 จำนวนผู้ป่วยมาลาเรียเพิ่มขึ้นเป็น 3,249 ราย เสียชีวิต 1 ราย มากที่สุดในอำเภอธารโตจำนวน 1,173 ราย เฉลี่ยอัตราป่วยมาลาเรียพบแสนละ 5,666 คน จังหวัดได้พัฒนาบริการบริการเชิงรุก โดยตั้งศูนย์ตรวจรักษาโรคมาลาเรียในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อค้นหาและรักษาอย่างทันท่วงที เฉพาะที่หมู่บ้านสันติ 2 ในรอบ 5 เดือนมานี้ ได้ตรวจเลือดประชาชนที่บ้านสันติ 2 แล้ว 397 ราย พบเชื้อมาลาเรีย 41 ราย ได้ให้การรักษาแล้ว ******************** 19 มีนาคม 2550


   
   


View 12    19/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ