รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผยพิษน้ำท่วม 22 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลประชาชนเครียดสูง 586 ราย ซึมเศร้า 1,465 ราย ท้อแท้ หมดหวัง เสี่ยงฆ่าตัวตาย 213 ราย จ.พิษณุโลกมากสุด 59 ราย ส่งทีมจิตเวชเคลื่อนที่เข้าคัดกรองผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยเฉพาะ 5 กลุ่มเสี่ยง  ให้การช่วยเหลือเบื้องต้น หากอาการรุนแรงส่งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และให้กรมสุขภาพจิตฟื้นฟูจิตใจต่อเนื่องจนกว่าจะปกติ

              เช้าวันนี้ (14 กันยายน 2554) นายต่อพงษ์  ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เดินทางไปตรวจเยี่ยมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดอ่างทอง โดยนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ กรมสุขภาพจิต และถุงยังชีพรวมยาชุดน้ำท่วม 1,000 ชุด ไปมอบให้ผู้ประสบภัยที่ อาคารเอนกประสงค์ โรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทอง ตำบลจำป่าหล่อ อ.เมือง และ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง  พร้อมนำหน่วยแพทย์เข้าเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ที่ไม่สามารถออกมาจากบ้านเพื่อมาตรวจที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่จัดไว้ได้
                            

นายต่อพงษ์ กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ขยายบริเวณกว้างหลายจังหวัด เป็นระยะเวลานาน กลุ่มผู้ประสบภัยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากจะเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น มี 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวชเดิม ผู้สูงอายุที่ขาดผู้ดูแล ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ที่สูญเสียมากทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หากน้ำท่วมนาน ปัญหาความเครียดเรื้อรังก็จะมีมากขึ้น ได้ให้ทีมจิตเวชเคลื่อนที่ เข้าคัดกรองผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกพื้นที่ว่ามีปัญหาความเครียดซึมเศร้าหรือไม่  หากพบจะให้การช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อผ่อนหนักเป็นเบา  ถ้ามีอาการรุนแรงจะส่งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันได้เปิดสายด่วน 1323 ระดมนักจิตวิทยาวันละกว่า 90 คน ให้คำปรึกษาผู้ประสบภัยที่มีปัญหาเครียด ไม่สบายใจ ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

  

  

จากการออกหน่วยจิตเวชเคลื่อนที่ร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แต่ละจังหวัด เยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 22 จังหวัดคือ น่าน สุโขทัย ลำพูน แม่ฮ่องสอน พิจิตร พิษณุโลก เชียงใหม่ แพร่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สกลนคร เลย นครพนม อุดรธานี สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก อุบลราชธานี สิงห์บุรี พังงา หนองคาย และอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ กรกฎาคม 13 กันยายน 2554  มีผู้ประสบภัยที่ได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตแล้ว 19,005 ราย พบอยู่ในอาการเครียดสูง นอนไม่หลับ 586 ราย ซึมเศร้า 1,465 ราย มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ท้อแท้หมดหวัง  เสี่ยงฆ่าตัวตาย 213 ราย มากที่สุด จ.พิษณุโลก 59 ราย รองลงมาคือพิจิตร 49 ราย และสุโขทัย 45 ราย และเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว 37 ครอบครัว

นายต่อพงษ์ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ได้ส่งทีมจิตแพทย์จากโรงพยาบาลศรีธัญญา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 และสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ออกตรวจคัดกรอง ให้การบำบัดรักษา ผู้ประสบภัยที่มีปัญหาสุขภาพจิต ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอ่างทอง 2 แห่งคือ ที่เทศบาล ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก และที่เทศบาล ต.จำปาหล่อ อ.เมือง  ส่วนที่ภาคเหนือ ได้ส่งทีมจากศูนย์สุขภาพจิตที่ 9  โรงพยาบาลสวนปรุง  ออกเยียวยาผู้ประสบภัยที่ ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งถูกโคลนถล่ม มีความสูญเสียอย่างกะทันหัน อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรงได้ ซึ่งทีมที่ไปนี้จะดูแลทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ประสบภัยทุกคน โดยให้กรมสุขภาพจิตฟื้นฟูจิตใจอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ด้าน นายแพทย์สาโรจน์  มะรุมดี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ที่อ่างทองมีน้ำท่วม 4 อำเภอคือ อ.เมือง อ.ป่าโมก อ.ไชโย และ อ.วิเศษชัยชาญ  หนักที่สุดที่ ต.จำปาหล่อ อ.เมือง ระดับน้ำสูง 1-2 เมตร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทองได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่วันละ 4 ทีม ตั้งแต่ 22 สิงหาคม 13 กันยายน 2554 พบผู้ป่วย 8,439 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ปวดศีรษะ พบผู้ที่มีความเครียด 13 ราย ซึมเศร้า 8 ราย ทุกรายอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.อย่างใกล้ชิด                      **********  14 กันยายน 2554

 



   
   


View 11       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ