กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนางานบริการอนามัยแม่และเด็กไทย ให้แม่ปลอดภัยจากการตั้งครรภ์ ลูกปลอดภัยจากการคลอด และได้รับการเลี้ยงดูเติบโต มีไอคิวเกิน 100 เท่าสากล เผยผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยล่าสุดปี 2549 น่าห่วง มีเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบ ถูกเลี้ยงดูตามยถากรรมมากถึงร้อยละ 13 ทำให้พัฒนาการไม่เต็ม 100 พบมากสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบเด็กน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน 2,500 กรัม กว่า 70,000 คน ทำให้เด็กมีต้นทุนชีวิตต่ำ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเร่งพัฒนาคุณภาพเด็กไทยให้มีสุขภาพดี มีไอคิวเกิน 100 เท่าเด็กสากล และมีความฉลาดทางอารมณ์ มีพัฒนาการสมวัย โดยจัดทำโครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว เพื่อพัฒนางานบริการอนามัยแม่และเด็กอย่างครบวงจร ดูแลหญิงตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดและดูแลสุขภาพเด็กต่อเนื่องจนถึงอายุ 5 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความสำคัญที่สุดของการพัฒนาคุณภาพเด็ก โดยพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศซึ่งมีประมาณ 15,000 แห่งให้ได้มาตรฐาน ทั้งพี่เลี้ยง สถานที่ ของเล่นกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ส่งเสริมให้หญิงหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนลูกอายุถึง 6 เดือน เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของเด็กทารก ทำให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง เพราะในน้ำนมแม่มีภูมิต้านทานโรคหลายชนิด ทำให้เด็กไม่เจ็บป่วยง่าย โดยปัญหาสุขภาพเด็กที่พบได้บ่อยที่สุดคือโรคอุจจาระร่วง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบเสียชีวิตมากที่สุด นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ และองค์กรระหว่างประเทศ ดำเนินการใน 26 จังหวัด จำนวนเด็ก 100,000 คน ใน 31,000 ครัวเรือน ล่าสุดในปี 2549 พบเด็กไทยมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดคือ 2,500 กรัม ร้อยละ 9 หรือประมาณ 73,000 คนจากจำนวนเด็กที่คลอด ปีละประมาณ 800,000 คน ทำให้เด็กมีต้นทุนชีวิตต่ำ มีสุขภาพอ่อนแอ เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยง่าย นอกจากนี้ยังพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งมีประมาณ 5 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 13 หรือ 5 แสนกว่าคน ที่ถูกเลี้ยงดูตามยถากรรม ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ทำให้โอกาสการพัฒนาการอย่างสมวัยไม่เต็มศักยภาพ เนื่องจากเด็กวัยนี้ถือว่าเป็นวัยแห่งหน้าต่างทองของการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อระดับเชาว์ปัญญาหรือไอคิว และความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กด้วย โดยพบการเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลยมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 16 รองลงมาคือภาคกลางร้อยละ 15 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากพ่อแม่ต้องทำงานอกบ้าน นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า เมื่อสำรวจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่ามีแม่ร้อยละ 50 เริ่มให้นมลูกภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีทารกวัยแรกเกิด - 5 เดือนเพียงร้อยละ 5 เศษๆ ที่กินนมแม่อย่างเดียว โดยพบต่ำสุดในภาคกลางเพียงร้อยละ 2 สูงที่สุดที่ภาคเหนือร้อยละ 11 โดยมีทารกวัยแรกเกิดถึง 11 เดือน เพียง 1 ใน เท่านั้นที่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ส่วนอัตราการได้รับวัคซีนป้องกันโรคสำคัญเช่นคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก วัณโรค โปลิโอ โรคหัด อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าร้อยละ 90 ได้ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ปัญหาทั้งหมดนี้ ต้องเร่งแก้ไข โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งพัฒนาระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์ เริ่มตั้งแต่การฝากครรภ์ อาหารบำรุงครรภ์ วัคซีน การตรวจหาความผิดปกติของโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่นธาลัสซีเมีย การตรวจเลือดเด็กทารกหลังคลอดเพื่อป้องกันการขาดสารไอโอดีน ต้นเหตุของปัญญาอ่อน พัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนให้ได้ร้อยละ 90 หรือ 1,200 แห่ง เป็นโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว ซึ่งจะทำให้การดูแลหญิงตั้งครรภ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เร่งส่งเสริมหญิงหลังคลอด ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวติดต่อกันถึง 6 เดือน ให้ได้ร้อยละ 25 รวมทั้งพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้สามารถดูแลเด็กแทนพ่อแม่ได้ โดยในศูนย์เด็กเล็กทุกแห่งจะมีการประเมินน้ำหนักตัวเด็กทุก 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง ตรวจประเมินพัฒนาการของเด็กเล็กให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 จัดของเล่น หนังสือนิทานให้เพียงพอ รวมทั้งพัฒนาห้องน้ำ ห้องปรุงอาหารเด็ก อาคารสถานที่ทั้งภายในและนอกอาคาร ให้สะอาด ปลอดภัย **************************************** 18 มีนาคม 2550


   
   


View 14    19/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ