กระทรวงสาธารณสุข จัดซ้อมแผนรับมือการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ สมมุติสถานการณ์การระบาดของโรคในระยะเตือนภัยระดับ 4 เริ่มมีการติดเชื้อจากคนสู่คนในกลุ่มเล็กๆ เน้นการสั่งการ ประสานงาน และการสื่อสารระหว่างหน่วยงานในกระทรวง ในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ชี้หากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ระบาดจริง จะแพร่กระจายทั่วประเทศภายใน 6 เดือน วันนี้ (8 มีนาคม 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการซ้อมแผนปฏิบัติการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้ชื่อว่า “ปฏิบัติการไข้หวัดใหญ่’50 หรือฟลู 07 (Flu’07)” เพื่อเตรียมความพร้อมหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โดยการซ้อมครั้งนี้เน้นหนักในด้านการ สั่งการ ประสานงาน และการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน โดยมีผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวง และผู้ประสานงานหลักแต่ละกรมรวม 91 คน และเชื่อมเครือข่ายผ่านระบบการประชุมทางไกล โทรศัพท์ และโทรสาร กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และมิสเตอร์ไข้หวัดนกใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี กาญจนบุรี และผู้บริหารสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ร่วมสังเกตการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การอนามัยโลก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ กรมปศุสัตว์ กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงกลาโหม เป็นต้น นายแพทย์มรกตกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นเชื้อผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างไข้หวัดใหญ่ในคนกับเชื้อโรคไข้หวัดนก อาจมีการระบาดภายใน 3-5 ปีนี้ ในประเทศไทยคาดการณ์ว่าหากมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ จะทำให้ประชาชนในประเทศติดเชื้อถึงร้อยละ 30 และแพร่กระจายทั่วประเทศภายใน 6 เดือน จึงต้องซักซ้อมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เริ่มซ้อมแผนรับมือในระดับจังหวัดตั้งแต่ปี 2548 จนถึงขณะนี้รวม 57 จังหวัด และซ้อมภายในกรมครบทั้ง 9 กรมแล้ว ครั้งนี้เป็นการซ้อมการสั่งการ การประสานงานรับมือครั้งใหญ่ในระดับกระทรวง โดยสมมุติสถานการณ์การระบาดในระยะเตือนภัยระดับที่ 4 คือเชื้อเริ่มการติดต่อจากคนสู่คนในกลุ่มเล็กๆ สำหรับการระบาดใหญ่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ประเทศไทยได้ปรับปรุงแนวทางขององค์การอนามัยโลกให้เหมาะสมกับประเทศ มี 6 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 เริ่มพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ในประเทศอื่นแต่ไม่พบการติดเชื้อในคน ระดับ 2 คือพบเชื้อไวรัสในสัตว์ในประเทศไทยหรือในประเทศอื่น และมีความเสี่ยงติดเชื้อสู่คน ระดับที่ 3 พบคนในประเทศหรือประเทศอื่นติดเชื้อเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากสัตว์ แต่ยังไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน ระดับ 4 พบเชื้อติดต่อจากคนสู่คนกลุ่มเล็กๆ ระบาดในพื้นที่จำกัด ระดับ 5 พบเชื้อติดต่อจากคนสู่คนเป็นกลุ่มใหญ่ ในพื้นที่จำกัดในประเทศไทยหรือประเทศอื่น หรือมีหลักฐานว่าเชื้อที่พบในประเทศอื่นเป็นชนิดที่ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย ระดับ 6 มีการระบาดสู่คนกลุ่มใหญ่ มีคนป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในไทยหรือในประเทศอื่น และหลังจากการระบาดจะเป็นช่วงที่มีผู้ป่วยรายใหม่ลดลง จนถึงไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 เดือน แต่ยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับไข้หวัดนก ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการซ้อมใหญ่ระดับกระทรวงในวันนี้ ใช้วิธีการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องตอบคำถามตามสถานการณ์ที่สมมุติขึ้น ว่ามีการปฏิบัติการรองรับอย่างไร เหมือนเกิดเหตุการณ์จริง การซ้อมแบ่งเป็น 3 ตอน ตอนที่ 1 เป็นการประเมินสถานการณ์และเปิดศูนย์ปฏิบัติการ หลังจากองค์การอนามัยโลกประกาศเตือนทุกประเทศ ว่ามีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในต่างประเทศ และให้เฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากประเทศแหล่งระบาด รวมทั้งเฝ้าระวังผู้ป่วยในประเทศที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ตอนที่ 2 เริ่มพบผู้ป่วยจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศ การเตรียมความพร้อมของการสำรองยาและวัคซีน สร้างความมั่นใจประชาชนหลังสื่อประโคมข่าว เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน และตอนที่ 3 การรับมือการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า หากเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ขึ้นจริงในประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดมาตรการไว้ดังนี้ การประกาศยืนยันสถานการณ์ให้ประชาชนทราบ โดยจะเปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันแก้ไขโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ 3 ระดับ คือ ระดับกระทรวงสาธารณสุข ระดับจังหวัด เปิดทำการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และเสนอให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับประเทศ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่ตัดสินใจเชิงนโยบายระดับประเทศ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และตั้งศูนย์ติดต่อประสานงาน (call center) และศูนย์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์สื่อมวลชนทุกแขนง และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารประชาชนเกี่ยวกับโรค ผลกระทบต่างๆ เพื่อการปฏิบัติตัว ลดความตื่นตระหนกของประชาชน ด้านการควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคมีทีมระบาดวิทยาสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว หรือ เอส อาร์ อาร์ ที มากกว่า 1,000 ทีมทั่วประเทศ ครอบคลุมถึงหมู่บ้าน เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ทั้งคนในประเทศและผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อลงพื้นที่ควบคุมโรคทันที ความพร้อมด้านการตรวจวิเคราะห์เชื้อขั้นยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์ทั้ง 12 แห่ง สามารถตรวจวิเคราะห์ได้วันละไม่ต่ำกว่า 50 ตัวอย่างต่อแห่ง รายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง มีรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ 2 คันพร้อมลงประจำพื้นที่ระบาด รายงานผลตรวจทันที และเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไวรัสและการดื้อยา ส่วนมาตรฐานการตรวจรักษาผู้ป่วยนั้น กรมการแพทย์ได้เตรียมห้องแยก ระบบรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล และบุคลากรการแพทย์ คอยคัดกรอง ดูแลรักษาผู้ป่วย องค์การเภสัชกรรมได้เตรียมสำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เพิ่มเติมอีก 200,000 แคปซูล จากที่มีอยู่เดิมแล้ว 2 ล้านแคปซูล และสำรองวัตถุดิบในการผลิต 80 กิโลกรัม ซึ่งสามารถผลิตเป็นยาได้ประมาณ 800,000 แคปซูลภายใน 5 วัน และสามารถจัดส่งเพิ่มได้ภายใน 24 ชั่วโมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คอยตรวจสอบเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายาต้านไวรัสปลอมและวัคซีนป้องกันโรคทั้งในสัตว์ปีกและในคน ผ่านด่านอาหารและยาตามจุดผ่านแดน ทั้งนี้ หลังจากการซ้อมแผนปฏิบัติการในวันนี้แล้ว จะจัดประชุมสรุป ประเมินผล เพื่อนำไปแก้ไขจุดอ่อน ปรับปรุงแผนและแนวทางปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในเดือนเมษายน 2550 **************************** 8 มีนาคม 2550


   
   


View 14    08/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ