ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ทำโครงการผลิตพยาบาลระดับปริญญาตรี 3,000 คน ให้เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 3 จังหวัดใต้ จบแล้วบรรจุเป็นข้าราชการทันที จะนำเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า และทุ่มงบ 21 ล้านบาทตั้งศูนย์เยียวยาทางจิตใจใน 3 จังหวัดด้วย หลังพบมีผู้ป่วยทางจิตรายใหม่เพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการและสาธารณสุขนิเทศก์ ร่วมหารือการแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่โรงแรมโนโวเทล เซ็นทรัลสุคนธา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อเช้าวันนี้ ว่า จากการได้มอบหมายให้ทีมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ลงศึกษาสภาพปัญหาการจัดบริการสุขภาพ ในจังหวัด ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส พบว่าปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอันดับหนึ่งขณะนี้ ก็คือการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ โดยมีพยาบาลประมาณ 1 ใน 3 แจ้งขอย้ายออกจากพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลเบตง มีรอขอย้าย 30 คน จะทำให้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลรุนแรงขึ้นในอนาคต และอีกเรื่องที่กำลังรุนแรงขึ้นเช่นกันคือ ผลกระทบทางด้านจิตใจใน 3 จังหวัด ซึ่งมีเกือบ 2 ล้านคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่นๆ ด้วย เนื่องจากขณะนี้ มีหน่วยบริการที่มีจิตแพทย์ทำหน้าที่ด้านสุขภาพจิต การคลายเครียดแห่งเดียว คือที่โรงพยาบาลยะลา
นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาล ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการผลิตพยาบาลระดับปริญญาตรีให้พื้นที่ 3 จังหวัดเป็นกรณีพิเศษ โดย ศอ.บต. ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้พื้นที่ 3 จังหวัดเป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถบริหารจัดการได้คล่องตัวรวดเร็ว และทำโครงการผลิตพยาบาลจำนวน 3,000 คน ใช้งบผลิต 60,000 บาท/คน/ปี โดยรับเด็กจากท้องถิ่นเข้าเรียนโดยตรง และกระทรวงสาธารณสุขจะขอ ก.พ. กำหนดตำแหน่ง 3,000 ตำแหน่ง เมื่อจบแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทันที จะนำเสนอ ครม. ในวันอังคารหน้านี้ นอกจากนี้ในปีนี้ ยังได้ทาบทามนักศึกษาพยาบาลที่ไม่ใช่นักเรียนทุน มาทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนักศึกษาพยาบาลปีที่ 4 จำนวน 12 คน และนักศึกษาที่จะขึ้นปี 4 จำนวน 13 คน สนใจและสมัครใจจะมาทำงานหลังจบ โดยกระทรวงสาธารณสุข จะจัดหาตำแหน่งให้อย่างเร่งด่วน
สำหรับการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตนั้น นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า จากการประเมินบริการที่โรงพยาบาลยะลา ขณะนี้มีผู้ป่วยมาใช้บริการวันละประมาณ 70 ราย ส่วนใหญ่มักมาด้วยอาการใจสั่น แน่นจุกเสียดหน้าอก ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียด โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในจังหวัดยะลา ที่เหลือมาจากปัตตานีและนราธิวาส คาดว่ายังมีประชาชนต้องการรับบริการอีกมาก ดังนั้นในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดงบ 21 ล้านบาทตั้งศูนย์เยียวยาทางจิตใจในพื้นที่ 3 จังหวัดให้ทั่วถึง โดยจัดจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ประจำโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 5 แห่ง คือ สุไหงโก-ลก เบตง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา เพื่อบำบัดผู้มีอาการวิกฤต ส่วนในชุมชนจะขยายการอบรม อสม. ทั้งหมด 15,000 คน ให้มีความสามารถ ช่วยเยียวยาเพื่อนบ้านเบื้องต้นได้ คล้ายกับการเยียวยาผู้ประสบภัยสึนามิ ที่ผ่านมามอบให้กรมสุขภาพจิตดำเนินการอย่างเร่งด่วนแล้ว
********************** 27 กุมภาพันธ์ 2550
View 9
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ