กระทรวงสาธารณสุข เผยสุขภาพหญิงไทยวัยแม่บ้าน น่าห่วง ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นปีละกว่า 6,000 ราย เสียชีวิตปีละกว่า 3,000 รายเฉลี่ยวันละ 9 ราย มากเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งในผู้หญิง ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยรู้ตัว ต้นเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสแปบปิโลมา สำส่อนทางเพศตั้งแต่อายุน้อยทั้งชายและหญิงมีสิทธิ์ติดเชื้อนี้ได้ เร่งป้องกันค้นหา โดยใช้วิธีตรวจหามะเร็งด้วยน้ำส้มสายชู และรักษาเบื้องต้นด้วยวิธีจี้เย็น สกัดไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลาม ตั้งเป้าเพิ่มอัตราตรวจมะเร็งปากมดลูกให้ได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 60
วันนี้(23 กุมภาพันธ์ 2550)นายแพทย์สมยศ เจริญศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ทั่วประเทศจำนวน 180 คน เรื่องการป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี วีไอเอ(VIA)หรือตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู ที่โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มความรู้ด้านวิชาการในเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและขยายในภาคปฏิบัติ
นายแพทย์สมยศ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยปีละเกือบ 50,000 ราย โดยมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในกลุ่มผู้หญิงมากที่สุด พบมากในช่วงอายุ 40 50 ปี ซึ่งอยู่ในวัยแม่บ้านดูแลครอบครัว จากรายงานของสำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติปี พ.ศ. 2544 พบประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละ 6,192 ราย เสียชีวิต 3,166 ราย คิดเป็นร้อยละ 51 ของผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมด หรือวันละเกือบ 9 ราย พบมากที่สุดในภาคเหนือเฉลี่ยแสนละ 23-25 คน
โรคมะเร็งปากมดลูกนั้นสามารถป้องกันได้โดยการตรวจภายในเพื่อหาความผิดของปากมดลูกตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะระยะที่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่อื่น โอกาสการรักษาหายขาดจะมีสูงมาก แต่ปัญหาที่ผู้หญิงไทยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกที่มีจำวนการตายสูง เนื่องจากไม่เคยได้รับการตรวจภายใน จึงไม่รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็ง จากการผลสำรวจล่าสุดเมื่อพ.ศ.2547 พบหญิงไทยตรวจหามะเร็งปากมดลูกประมาณร้อยละ 35 หรือ 1 ใน 3 เท่านั้น
นายแพทย์สมยศ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าฮิวแมนแพปพิลโลมา หรือเอชพีวี ( Human Papiloma Virus :HPV) ซึ่งจะติดด้วยการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งปากมดลูกที่สำคัญได้แก่ การมีคู่นอนหลายคน เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์เมื่อตั้งแต่อายุน้อย การสูบบุหรี่ มีประวัติเคยติดเชื้อซิฟิลิส หนองใน เริม ส่วนผู้ชายที่มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงได้ ได้แก่ผู้ที่เป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศ ผู้หญิงที่แต่งงานกับชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก ผู้ชายที่เคยเป็นโรคกามโรค รวมทั้งผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน และมีประสบการณ์ทางเพศตั้งแต่อายุยังน้อย
ในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการป้องกันมะเร็งปากมดลูก 2 วิธีบริการฟรี คือตรวจหาเซลล์มะเร็งด้วยวิธีที่เรียกแป๊บเสมียร์(Pap Smear) ขณะนี้ดำเนินการทั่วประเทศ เริ่มตรวจอายุตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไปซึ่งมีประมาณ 10 ล้านคน จากการประเมินผลล่าสุดพบมีความครอบคลุมต่ำมากเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น หรือประมาณ 1 ใน 3 เนื่องจากผู้หญิงมักไม่ค่อยกล่าวไปตรวจเพราะอายหมอ จึงต้องเสริมวิธีตรวจ โดยใช้กรดน้ำส้มสายชูความเข้มข้น 3-5 เปอร์เซ็นต์ หรือที่เรียกว่าวิธีวีไอเอ(VIA: Visual Inspection with Acetic Acid) หากเซลล์ผิดปกติ จะมองเห็นเป็นฝ้าขาวที่ปากมดลูก ให้ความแม่นยำสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และให้การรักษาด้วยวิธีจีเย็น(Cryotherapy) เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน วิธีนี้ตรวจง่าย พยาบาลที่ผ่านการ อบรมสามารถตรวจและรักษาได้เลย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะใช้ทั้ง 2 วิธีในการส่งเสริมให้ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปทุกคนตรวจหามะเร็งปากมดลูกปีละ 1 ครั้ง ตั้งเป้าในปี 2550 นี้จะครอบคลุมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีวีไอเอ จะเหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 30- 45 ปี เป็นการน้ำส้มสายชูมาป้ายบริเวณปากมดลูกเพื่อดูว่าเนื้อเยื่อปากมดลูกมีความผิดปกติหรือไม่หากเป็นฝ้าขาวแสดงว่ามีโอกาสที่เชื้อจะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคต และทำการรักษาด้วยวิธีการจี้เย็นเพื่อควบคุมไม่ให้ลุกลามเป็นเซลล์มะเร็งต่อไป การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีวีไอเอนั้นจะต้องทำโดย แพทย์ พยาบาล ที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น ที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว 16 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด หนองคาย อำนาจเจริญ ยโสธร สุราษฏร์ธานี อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์กระบี่ ตาก น่าน ตาก นครศรีธรรมราช พิษณุโลก อุบลราชธานี ลพบุรี และมุกดาหาร รวมกว่า 200,000 ราย
สำหรับในปี 2549 ได้ทำการตรวจคัดกรองไปจำนวน 80,000 ราย และได้รับการรายงานผลการตรวจส่งกลับมา 9 จังหวัด จำนวน 879 ราย พบผลปกติจำนวน 310 ราย ระยะก่อนเป็นมะเร็งจำนวน 278 ราย เป็นมะเร็ง 21 ราย และโรคทางนรีเวชอื่นๆ 270 ราย ในปี 2550 จะดำเนินการโครงการดังกล่าวเพิ่มอีก 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว โดยตรวจที่สถานบริการที่มีเจ้าหน้าที่ผ่านการอบรม ทั้งนี้จากการศึกษาของคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนกับประสิทธิภาพมีความคุ้มค่าการตรวจด้วยวิธีวีไอเอ ใช้ต้นทุนเพียง 245 บาท ขณะที่แป็บเสมียร์ 875 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการใช้งบที่ถูกมาก หากปล่อยให้เป็นมะเร็งในระยะที่ลุกลามแล้ว จะใช้ค่ารักษาอย่างต่ำประมาณ 20,000 บาทต่อราย และมีโอกาสอยู่รอดใน 5 ปีหลังรักษามีน้อยเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์
กุมภาพันธ์6/10-11 ********************* 23 กุมภาพันธ์ 2550
View 12
23/02/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ