ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เร่งเดินหน้าโครงการบริจาคอวัยวะ เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนใส่ให้ผู้ป่วยที่อวัยวะภายในเสียการทำงานอย่างถาวร ตั้งคณะกรรมการร่วม 1 ชุด จัดระบบช่องทางด่วนบริการเน้นตับ ไตก่อน ในเบื้องต้นจะเริ่มที่ 3 จังหวัดใกล้กทม.ก่อน คือ ชลบุรี สระบุรี และนครราชสีมา ตั้งเป้าปีหน้านี้จะชวนผู้บริจาคให้ได้ 200 ราย
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้คนไทยมีปัญหาเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้นที่พบมากได้แก่ เบาหวานโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอดที่เกิดจากการเสื่อมของถุงลมปอด มีผู้ป่วยปีละประมาณ 1ล้านคน โรคดังกล่าวนอกจากรักษาไม่หายขาดยังส่งผลให้อวัยวะภายในเช่น หัวใจ ไต ปอด ตับ เสียการทำงานอย่างถาวรด้วย การรักษาจะต้องใช้การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะใหม่ไปทดแทน หรือเรียกว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งได้ผลคุ้มค่ามาก เป็นการชุบชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วย ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติซึ่งขณะนี้วงการแพทย์ไทยสามารถทำได้แต่ปัญหาใหญ่คือขาดแคลนอวัยวะที่จะนำมาผ่าตัดปลูกถ่ายเนื่องจากคนไทยมักมีความเชื่อว่าการบริจาคอวัยวะจะทำให้เกิดชาติหน้ามีอวัยวะไม่ครบ 32จึงมีผู้บริจาคน้อยมาก ทำให้การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะในไทย ดำเนินการได้น้อยมาก มีไม่ถึงปีละ 200 ราย ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ป่วยเข้าคิวรอการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยประมาณ 2,000 กว่าราย ในขณะที่ต่างประเทศมีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะปีละจำนวนมาก
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไขปัญหานี้ และจะรณรงค์ให้คนไทยบริจาคอวัยวะกันมากขึ้น จะเน้นบริจาคตับและไตก่อน โดยการขอบริจาคในกลุ่มผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุที่รักษาในโรงพยาบาลต่างๆ และอยู่ในภาวะที่สมองตายแล้ว ในปีนี้ตั้งเป้าจะให้ได้ 200 ราย โดยจะตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการเรื่องนี้เฉพาะ 1 ชุด และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นคณะกรรมการ เช่น สภากาชาดไทย มูลนิธิโรคไต คณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น ได้มอบหมายให้นายแพทย์ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
ทางด้านนายแพทย์ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการเดินหน้าโครงการดังกล่าวในปี 2554 นี้ จะเริ่มนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ใกล้กทม.ก่อน 3 แห่ง คือโรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี โรงพยาบาลสระบุรี และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งสามารถเดินทางไปรับอวัยวะบริจาคมาทำการผ่าตัดเปลี่ยนให้ผู้ป่วยที่เข้าคิวรอที่สภากาชาดไทยได้ภายใน 6 ชั่วโมง ในการขอบริจาคอวัยวะนั้น จะขอในกลุ่มผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่มีอาการวิกฤติและอยู่ในภาวะที่สมองตาย ไม่มีโอกาสรอดชีวิตแล้ว ซึ่งเมื่อมีอวัยวะบริจาคมากขึ้น แพทย์จะสามารถให้การรักษาผ่าตัดเปลี่ยนทดแทน ช่วยผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตและรอคอยความหวังได้มากขึ้น
ต่อปี ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละประมาณ 13,000คนเฉลี่ยชั่วโมงละ 2คน และพบมากเป็น 2 เท่าตัว ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว อายุ 15-45ปี ซึ่งมีร่างกายแข็งแรง และอวัยวะต่างๆมีความสมบูรณ์ทั้งนี้ จะต้องพูดคุยกับญาติของผู้เสียชีวิต เพื่อทำความเข้าใจและสมัครใจบริจาคอวัยวะเพื่อสร้างกุศลให้ผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้ายได้ประชุมหารือกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อเชิญชวนหาผู้บริจาคอวัยวะดังกล่าว ที่ผ่านมาพบว่าในคนไทย 1ล้านคน จะมีผู้บริจาคอวัยวะเพียงไม่ถึง 2คนต่อปีในขณะที่แถบยุโรป เช่น ประเทศสเปน มีผู้บริจาคอวัยวะปีละ 34 คน สูงกว่าไทย 17 เท่าตัวนายแพทย์ทะนงสรรค์กล่าว
************ 30 พฤศจิกายน 2553