กระทรวงสาธารณสุข เตรียมทำสมุดปกขาว เผยแพร่สาธารณชนในเรื่องการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ยาราคาแพง 3 ตัว ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอดส์ขนานดื้อยาและยารักษาโรคหัวใจ ทั้งเรื่องความจำเป็นและข้อกฎหมายโดยจะให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิมพ์เผยแพร่ในเร็วๆ นี้ พร้อมขอให้คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ช่วยผลักดัน พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตรวจเยี่ยมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านงานสาธารณสุข ร่วมกับคณะผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และตัวแทนสภาวิชาชีพทุกสภา ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันนี้ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอแผนและสิ่งที่ดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ขอให้คณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติสนับสนุนในประเด็นสำคัญ 4 เรื่องดังนี้
ประเด็นที่ 1 พระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้ฉบับร่างของรัฐบาลอยู่ในสำนักงานกฤษฎีกา คาดว่าจะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติในอนาคต โดย สนช. ได้ให้ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขว่าขณะนี้สมาชิก สนช. 28 ท่าน ได้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับของ สนช. เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ประกบกับฉบับร่างของรัฐบาล ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 นี้ โดยสมาชิก สนช.ทุกท่าน เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นผลดีกับประชาชน พร้อมให้การสนับสนุนต่อไป และกระทรวงสาธารณสุขยังขอให้ สนช. ให้การสนับสนุน พ.ร.บ. สาธารณสุข อีก 7-8 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ร.บ.การวิจัยในมนุษย์ พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข เป็นต้น
ประเด็นที่ 2 การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา 3 ตัว ที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคม ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอดส์ 2 ตัว คือยาเอฟฟาไวแรนซ์ (Effavirenz) ยาคาแลตตร้า (Kaletra) และยาสลายลิ่มเลือด คือ ยาพลาวิกซ์ (Plavix) ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้อ้างเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิตัวนี้ ที่ประชุมเห็นว่าทิศทางที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการไปถูกต้องแล้ว ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันผลักดันแนวทางนี้ต่อไป โดยได้เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำสมุดปกขาว เผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ทราบถึงความเป็นมาการบังคับใช้สิทธิยาทั้ง 3 ตัวดังกล่าว รวมทั้งข้อกฎหมายต่างๆ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม เป็นผู้รวบรวม และให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้พิมพ์เผยแพร่ต่อไปเร็วๆ นี้
ประเด็นที่ 3 เรื่องการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ประชุมเห็นความจำเป็นว่าจะต้องมีในกรณีที่เกิดการระบาด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่า จะเกิดปัญหาการระบาดใหญ่ใน 4-5 ปีนี้ มีผลให้คนไทยป่วย 6-5 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 65,000 คน หรืออัตราป่วยตาย 1 เปอร์เซ็นต์ และหากเราไม่มีโรงงานวัคซีน เมื่อเกิดการระบาดแล้วจะหาซื้อวัคซีนที่ไหนไม่ได้ การมีโรงงานวัคซีนนี้จะเป็นการสร้างความมั่นคงทางเรื่องสุขภาพของคนไทย ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ในการช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทย ทั้งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุด
ในการตั้งโรงงานผลิตวัคซีนจะทำ 2 ระดับคือระดับกึ่งอุตสาหกรรมเป็นโครงการนำร่องในการผลิต ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี ก็จะได้วัคซีนใช้แต่ได้ปริมาณจำกัด และระดับอุตสาหกรรม เพื่อผลิตได้จำนวนมาก โดยการตั้งโรงงานผลิตวัคซีนในระยะแรก คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกเบื้องต้น 2 ล้านเหรียญสหรัฐ และอีกส่วนหนึ่งจะใช้งบลงทุนจากองค์การเภสัชกรรม ส่วนระดับอุตสาหกรรมนั้นจะดำเนินการต่อไปเมื่อได้เทคโนโลยีการผลิตเรียบร้อยแล้ว
ประเด็นที่ 4 การแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเบิกค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว ตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง โดยเฉพาะข้าราชการที่เกษียณอายุแล้วบางส่วนที่ทำงานในภาคเอกชน และไม่ได้รับสิทธิข้าราชการ แต่ให้ใช้สิทธิประกันสังคมแทน ทำให้เกิดการเสียสิทธิ และได้ร้องเรียน สนช. เป็นจำนวนมาก โดยจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมหารือกับคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สนช. ต่อไป เพื่อศึกษาผลกระทบและเสนอแนวทางแก้ไขต่อไป นายแพทย์สุพรรณกล่าว
*********************************** 9 กุมภาพันธ์ 2550
View 11
09/02/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ