สาธารณสุข เร่งกำหนดมาตรการการช่วยเหลือเหยื่อน้ำเมาที่ชัดเจน และเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดแจง เจตนารมณ์ของ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และลดจำนวนผู้บริโภค ส่วนเหยื่อน้ำเมาขณะนี้เข้ารับการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ วอนผู้ค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดูแล บำบัดผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงใจ  

 

วันนี้( 13 ตุลาคม 2553 )ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายธนกร วังบุญคงชนะ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมูลนิธิเพื่อนหญิง กว่า 50 คน
            นายธนกร กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญในเรื่องอันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมาก และในส่วนของมาตรการต่างๆที่จะเยียวยาฟื้นฟู ผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะนี้ทุกภาคส่วน รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการมาโดยตลอด และจะต้องเร่งดำเนินการ   เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้น่าจะคลี่คลายมากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งกำหนดมาตรการที่ชัดเจนมากขึ้นและจะเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด
            ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนเรื่องการเยียวยา และมติครม.ได้เห็นชอบว่าต้องมีการเยียวยาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  แม้ว่าโดยแท้จริงแล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องยื่นมือเข้ามาดูแลรับผิดชอบช่วยเหลือ และเยียวยาอย่างจริงใจโดยไม่หวังผลการโฆษณาแอบแฝง ซึ่งจะมีการพูดคุยกันต่อไป          
นายแพทย์สมานกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 เจตนารมณ์ของกฎหมายโดยตรงเพื่อ ต้องการแก้ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และลดจำนวนผู้บริโภค  ในส่วนของการบำบัดรักษา ในร่างกฎหมายการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เบื้องต้นได้กำหนดเรื่องของกองทุนบำบัดรักษาด้วย  แต่ในชั้นของวาระเข้าสู่สภาได้ตัดออกไป เพราะเกรงว่าจะไม่ผ่าน แต่อย่างไรก็ดีในแง่ของการบำบัดรักษาและเยียวยา แม้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องดูแล อย่างไรก็ตามหากคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งเสพติด มีพิษมีภัยต่อร่างกาย เขาคงไม่ดื่ม แต่การที่ดื่มมาแล้ว อาจเป็นเพราะการโฆษณาส่งเสริมการขายต่างๆ
            ก่อนที่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 จะออกมาและมีผลบังคับใช้ ได้มีการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆมากมาย กระทรวงสาธารณสุขมองว่าเรื่องของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าเขารู้เท่าทันก็คงไม่ดื่ม เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย มีแต่ผลเสีย ด้วยหลักมนุษยธรรม จรรยาบรรณทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจะปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องบำบัดรักษาแลดูแล แต่ต้องดูเรื่องความชอบธรรมที่ผู้ได้รับผลประโยชน์จากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้กำไรจนเป็นมหาเศรษฐีของประเทศไทยและของโลก ต้องมาร่วมดูแลและบำบัดรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจังและจริงใจด้วย นายแพทย์สมานกล่าว

***************************************************** 13 ตุลาคม 2553



   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ