จากกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวพบโรคมหาภัยตัวใหม่ เมลิออยโดสิส รุนแรงกว่า หวัดนก เป็นแล้วรักษาไม่ทันเสียชีวิตใน 48 ชั่วโมง โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตั้งศูนย์วิจัยเพื่อรับมือโรคดังกล่าวนั้น

ความคืบหน้าวันนี้ (24 สิงหาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis)หรือที่เรียกว่าโรคนักเลียนแบบ ซึ่งผู้ที่ป่วยจากโรคนี้ จะมีอาการคล้ายโรคหลาย ๆ โรค เหมือนเป็นการเลียนแบบ ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก เช่นทำให้เกิดความเข้าใจว่าติดเชื้อวัณโรค ปอดบวม ไตอักเสบ ทั้งที่จริงแล้วอาจจะเป็นโรคเมลิออยโดสิส
          นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนใหญ่อยู่ในน้ำและในดิน พบมากในภาคอีสาน โดยเฉพาะในนาข้าว โดยเชื้อแบคทีเรียนี้กระจายอยู่ทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เกาหลี พม่า กัมพูชา ลาว และสามารถเป็นได้ทั้งคนและสัตว์ ติดต่อทางผิวหนัง โดยเฉพาะที่มีบาดแผล และทางการสูดเข้าไปทางลมหายใจ กลิ่นคล้ายข้าวสุกใหม่ ๆ    อาการมี 2 แบบ คือแบบเฉียบพลัน จะแสดงอาการภายหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-3 วัน และแบบเรื้อรังจะมีอาการภายหลังได้รับเชื้อเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ที่พบบ่อยในประเทศไทยคือมีอาการติดเชื้อในปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะหากรักษาไม่ทัน อาจเกิดอาการช็อคและเสียชีวิตได้ จากสถิติพบว่าหากผู้ป่วยมีอาการช็อค จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 75 หากติดเชื้อเข้ากระแสเลือดอัตราการเสียชีวิตจะสูงร้อยละ 40
          กลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นโรคนี้คือเกษตรกรที่มีบาดแผล มีแผลที่เท้า และไม่สวมรองเท้า จึงมีโอกาสที่แบคทีเรียจะเข้าสู่บาดแผล เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่าย รวมทั้งกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่นผู้ป่วยโรคไตวาย เบาหวาน โรคตับ เป็นต้น สำหรับสถิติผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2553 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 11 สิงหาคม 2553 พบผู้ป่วย 1,307 รายใน 50 จังหวัด เสียชีวิต 6 ราย
          นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงให้เพิ่มความระมัดระวัง ให้สวมใส่รองเท้าบู๊ท ไม่ย่ำน้ำย่ำดิน ย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า และหากมีไข้ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาหายขาดได้ โดยวงการแพทย์ทราบดีว่าในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดใด แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่รักษาครอบคลุมแบคทีเรียทุกชนิดทันที ไม่ต้องรอผลการตรวจเลือด เพราะหากรอผลซึ่งใช้เวลาหลายวัน หากเป็นเชื้อเมลิออยโดสิสจริง ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตก่อนได้
ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกโรคนี้ แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ประมาทด้วย เพราะทุกโรคควรป้องกันไม่ให้ป่วย เมื่อปรากฏเป็นข่าวถือเป็นเรื่องที่ดี จะได้ย้ำเตือนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงว่า ต้องไม่ประมาท เช่นเดียวกับโรคฉี่หนู ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงหน้าฝนมีน้ำท่วมน้ำขัง ลักษณะการติดเชื้อใกล้เคียงกันโดยเข้าทางบาดแผล หากไปย่ำน้ำย่ำดิน ไม่ใส่รองเท้า ก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน เพียงแต่เป็นเชื้อคนละชนิดกัน นายจุรินทร์กล่าว
สำหรับประเด็นที่เกรงว่าจะมีการนำเชื้อโรคชนิดนี้ไปทำอาวุธชีวภาพนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญ พบว่าอยู่ในรายชื่อของเชื้อโรคที่สามารถนำไปผลิตอาวุธชีวภาพได้ แต่ไม่มีประสิทธิภาพรุนแรงเหมือนเชื้อแอนแทรกซ์ ซึ่งสูดทางลมหายใจก็มีผลแล้ว
          ด้านนายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเมลิออยโดสิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อเบอโคลเดอเรีย สูโดมัลลิไอ (Burkholderia  pseudomallei) รักษาหายขาดได้ แต่ต้องรีบรักษา ใช้ระยะเวลาในการรักษานาน อาจต้องกินยานานประมาณ 4-6 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับซ้ำ
นายแพทย์คำนวณกล่าวว่า การสังเกตว่าจะป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่ เมื่อมีไข้ และไปพบแพทย์ แพทย์จะเอ็กซเรย์ดูว่ามีการติดเชื้อที่ปอดหรือไม่ ประกอบกับการซักประวัติ หากผู้ป่วยมีอาชีพทำนา เป็นเกษตรกร อยู่ในภาคอีสาน แพทย์จะนึกถึงโรคนี้เป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นเมื่อไปพบแพทย์ ขอให้ผู้ป่วยแจ้งอาชีพ สถานที่อยู่อาศัย และมีประวัติคนในบ้านป่วย ด้วยอาการคล้ายกันหรือไม่ ให้แก่แพทย์ผู้ตรวจรักษา เพื่อให้แพทย์ประกอบการวินิจฉัยโรคด้วย 
          นายแพทย์คำนวณกล่าวต่อว่า โรคนี้โดยทั่วไป ไม่แพร่ติดต่อจากคนสู่คน อาจมีบางกรณีซึ่งพบได้ยาก ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อม ในการที่จะทราบว่าป่วยเป็นโรคเมลิออยโดสิสหรือไม่ จะใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อหาระดับภูมิต้านทาน ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งและโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปสามารถตรวจได้ แต่ใช้เวลานานในการรอผลการตรวจ ดังนั้นในการรักษา แพทย์จะไม่รอผลการตรวจเลือด แต่จะรักษาโดยดูจากอาการและการซักประวัติประกอบกัน
************************************ 24 สิงหาคม 2553


   
   


View 9       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ