กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังการเกิดโรคภัยในประเทศตลอดปี 2552 พบมีโรคระบาดเกิดขึ้น 502 เหตุการณ์ ประมาณร้อยละ 70 เป็นโรคติดเชื้อทางน้ำและอาหาร ที่พบบ่อยที่สุดคือโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง ขณะเดียวกันผลสำรวจพฤติกรรมของวัยรุ่น อายุ 12-15 ปีในปีนี้ พบ 1 ใน 4 กินลาบ แหนม หมูส้ม สุกๆดิบๆ และอีกร้อยละ 17 เมินใช้ช้อนกลางร่วมวงอาหารกับผู้อื่น  

          นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับมาตรฐานการควบคุมป้องกันโรคระบาดของประเทศ เพื่อให้สามารถจำกัดวงระบาดให้เร็วที่สุด และลดผลกระทบต่อประชาชน สังคม เศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสำนักระบาดวิทยาเป็นหน่วยงานหลัก ทำหน้าที่เฝ้าระวังการระบาดของโรคภัยจาก 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ เครือข่ายระบาดวิทยาทั่วประเทศ จากประชาชนทั่วไป และจากสื่อมวลชนทุกแขนง ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าได้ผลดี ให้สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว เป็นประเทศตัวอย่างในภูมิภาค
          นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ผลการเฝ้าระวังโรคระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศตลอดปี 2552 พบมีรายงานโรคระบาดเกิดขึ้น 502 เหตุการณ์ เฉลี่ยเดือนละ 42 เหตุการณ์ ประมาณร้อยละ 70 เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและน้ำ ที่พบมากที่สุดคือโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ส่วนที่เหลือเป็นโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โรคฉี่หนู  โรคสเตรปโตคอคัส ซูอิส (Streptococcus suis) หรือโรคไข้หูดับ เป็นต้น 
 ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สอบสวนโรค พบว่า สิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขเพื่อป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ พฤติกรรมสุขภาพของประชาชน การดูแลรักษาความสะอาดของแต่ละคน ความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม และความสะอาดของสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เช่นห้องน้ำห้องส้วม ได้เร่งรัดให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเผยแพร่ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรค เช่นการล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร ดื่มน้ำสะอาด งดกินอาหารสุกๆดิบๆ ให้กรมอนามัยเร่งยกระดับมาตรฐานความสะอาดของระบบห้องส้วมสาธารณะ ตลาดสด ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งสร้างพฤติกรรมสุขภาพตามสุขบัญญัติแห่งชาติซึ่งมี 10 ข้อ เช่น การดูแลความสะอาดร่างกาย ของใช้ต่างๆ การล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร และภายหลังขับถ่าย การกินอาหารปรุงสุก คาดหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นไข้หวัด เป็นต้น หากประชาชนทุกคนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยตัดวงจรการเกิดโรคลงไปได้มาก นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว      
          ทางด้านนายแพทย์นรา นาควัฒนกูล อธิบดีกรมสนับสนนุบริการสุขภาพ กล่าวว่า พฤติกรรมการกินของประชาชนขณะนี้ยังน่าห่วง พบว่าค่านิยมของการกินอาหารสุกๆดิบๆ ยังมีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งอาจเป็นความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานานว่า อาหารสุกๆดิบๆมีรสชาติหวานอร่อยกว่าอาหารปรุงสุก โดยกองสุขศึกษาได้ทำการสำรวจพฤติกรรมวัยรุ่นอายุ 12-15 ปีตามสุขบัญญัติแห่งชาติ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,705 คนกระจายทุกภาค เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พบว่าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 87 ล้างมือด้วยสบู่ก่อนกินอาหารและหลังจากการขับถ่าย แต่มีนักเรียนร้อยละ 27 หรือประมาณ 1 ใน 4 ที่ยังกินอาหารสุกๆดิบๆ เช่นลาบ ก้อย แหนม หมูส้ม เป็นต้น ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคทางเดินอาหาร และอีกร้อยละ 17 ไม่ใช้ช้อนกลางเมื่อร่วมวงกินอาหารกับผู้อื่น ซึ่งมีความเสี่ยงหลายโรคทั้งโรคอุจจาระร่วง โรคตับอักเสบ รวมทั้งโรคทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
                                                                           *********************************   15 สิงหาคม 2553


   
   


View 9       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ