กระทรวงสาธารณสุข เตรียมบรรจุยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติอีก 645 รายการ เป็นทางเลือกให้ประชาชน เบิกจ่ายได้ตามสิทธิทั้งระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งเป้าใช้ในโรงพยาบาลชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และใช้ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 5 ของค่าใช้จ่ายด้านยาทั้งหมด 
วันนี้ (5 สิงหาคม 2553 ) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2553 ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตถึงความคืบหน้าการบรรจุยาสมุนไพรเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติว่า บัญชียาหลักสมุนไพรแห่งชาติ เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2542 มียาสมุนไพรขึ้นบัญชี รวม 8 รายการ ต่อมาในปี 2549  มีการบรรจุยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบันรวม 19 รายการ เป็นยาเดี่ยว 8 รายการ ยาตำรับ 11 รายการ เพื่อตอบรับกระแสความตื่นตัวด้านการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาไทย การใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุข ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายบรรจุยาสมุนไพรเพิ่มเติมอีก 645 รายการ มี 5 กลุ่มผลิต อาทิ จากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จากโรงพยาบาลเอกชน จากผู้มีใบประกอบโรคศิลปะและประชาชนทั่วไป มีทั้งในรูปแบบตำรับและยาเดี่ยว  
ขณะนี้มีการรวบรวมเป็นตำรับและสูตรที่ชัดเจนแล้ว แต่เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำข้อมูลยาจากสมุนไพร เพื่อเสนอต่อคณะทำงานคัดเลือกยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจะมีคณะอนุกรรมการ 3 ชุด รับผิดชอบในการพัฒนา ตรวจสอบ เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนอย.ให้ถูกต้องต่อไป และสามารถเบิกจ่ายได้ครอบคลุมทั้งระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
          ดร.พรรณสิริ กล่าวอีกว่า ได้ตั้งเป้าให้โรงพยาบาลในสังกัดใช้ยาสมุนไพรตามแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติปี 2550-2554 โดยโรงพยาบาลชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายด้านยาทั้งหมด ส่วนในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปใช้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5  
ส่วนโรงพยาบาลที่มีแพทย์แผนไทยไปทำงานคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลซึ่งปีนี้ได้ส่งไปจำนวน 150 คน มั่นใจว่าจะเป็นจุดนำร่องสำคัญที่จะมีการใช้ยาสมุนไพรได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 สาเหตุที่การใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากมียาในบัญชียาหลักเพียง 19 รายการ มั่นใจว่าต่อไปหากมียาในบัญชียาหลักเพิ่มขึ้น การใช้ก็จะสูงขึ้นตามมา ซึ่งสามารถเบิกจ่ายได้ทั้ง 3 ระบบ นอกจากนี้ได้มีการอนุมัติให้โรงพยาบาลที่มีการวิจัยตัวยาทางคลินิกแล้ว สามารถนำไปใช้ได้ด้วย นำร่องไปแล้วใน 25 โรงพยาบาล 31 ตัวยา
.................................................................     5 สิงหาคม 2553


   
   


View 8       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ