วันนี้ (19 กรกฎาคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบบูรณาการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน จำนวนผู้เสียชีวิตในระยะเวลา 10 ปี รวม 190,289 ราย เฉลี่ย 19,029 รายต่อปี อัตราเฉลี่ย 10 ปี อยู่ที่ 29 ต่อแสนประชากร โดยพบคนวัยหนุ่มสาวอายุ 15 – 29 ปี ครองสถิติการเสียชีวิตสูงสุดแต่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) กลายเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 2,834 เพิ่มขึ้นเป็น 4,307 ราย ในปี 2567  เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51.8 ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตในกลุ่มนี้เป็นผู้ขับขี่เอง และพาหนะที่ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์

       นายแพทย์ภาณุมาศ ยังได้กล่าวต่ออีกว่าผู้สูงอายุสามารถขับขี่ได้ แต่ต้องทราบข้อจำกัดของสภาพร่างกายตนเองและปรับแก้ไข หรือจำกัดการขับขี่นั้นให้มีความปลอดภัย สภาพร่างกายเมื่ออายุมากขึ้นจะมีความถดถอยตามวัย โดยเฉพาะสายตา ความจำ การตัดสินใจและกำลังกล้ามเนื้อ และเหนื่อยล้าได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว ดังนั้นไม่ควรขับขี่ทางไกล เส้นทางไม่คุ้นเคย และเลี่ยงการขับขี่กลางคืน เพราะเมื่ออายุเพิ่มขึ้นการมองเห็นจะชัดน้อยลง โดยเฉพาะการมองเห็นในที่แสงสว่างน้อย ความจำ การตัดสินใจและการตอบสนองจะทำได้ช้าลง จึงควรเลือกขับขี่ในเส้นทางที่คุ้นเคยและไม่อันตราย

       นายแพทย์เอนก มุ่งอ้อมกลาง รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่าผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวและใช้ยาในการรักษา โรคประจำตัวบางโรคมีผลต่อการขับขี่ เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน สมองเสื่อม โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) โดยโรคเหล่านี้จะมีผลต่อการรับรู้ การตัดสินใจ หรือโรคทำให้มีความเสี่ยงต่อการหมดสติฉับพลัน เป็นผลให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมรถได้ ดังนั้นผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจร่างกายประเมินความพร้อมต่อการขับขี่ และหากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวหรือใช้ยาในการรักษา แพทย์ผู้รักษาควรให้คำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อการขับขี่ปลอดภัย

       แพทย์หญิงศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ ได้กล่าวว่า ผู้สูงอายุหากยังขับขี่ควรได้รับการตรวจร่างกายเพื่อประเมินความพร้อมต่อการขับขี่และปรับแก้ไข เช่น การใส่แว่นสายตาในผู้มีปัญหาสายตา การใส่เครื่อง CPAP ขณะนอนหลับในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) หากพบว่าสภาพร่างกายไม่พร้อมควรงดขับขี่ เปลี่ยนมาใช้รถสาธารณะหรือให้ผู้อื่นขับแทน เพื่อความปลอดภัยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนซึ่งนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งร่างกายและทรัพย์สิน 

*******************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 19 กรกฎาคม 2568



   
   


View 40    19/07/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ