ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมแพทย์ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อฟิตมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกในพิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงโรคไข้หวัดนกในอดีต เพื่อป้องกันไม่ให้โรคหวนระบาดอีกในปีนี้ โดยเฉพาะช่วงตรุษจีน
เช้าวันนี้ (31 มกราคม 2550) ที่ศูนย์ควบคุมโรคเขต 8 จังหวัดนครสวรรค์ แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ หัวหน้าสำนักตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 3 เปิดประชุมประชุมแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ผู้อำนวยการศูนย์อนามัย ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน และนายแพทย์สาธารณสุข จากจังหวัดนครสวรรค์, กำแพงเพชร, อุทัยธานี และพิจิตร จำนวน 100 คน เพื่อทบทวนมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกในพื้นที่และพัฒนาการจัดการความรู้ไข้หวัดนกให้ทันเหตุการณ์ปัจจุบัน สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเคยเป็นพื้นที่ที่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกในคนในระลอกที่ 3 ในปี 2549 แม้ว่าในปี 2550 นี้ในพื้นที่ดังกล่าวจะยังไม่พบการะบาดของโรคไข้หวัดนกทั้งในสัตว์ปีกและในคนก็ตาม
แพทย์หญิงศิริพรกล่าวว่า ในการประชุมในวันนี้ได้เชิญแพทย์ที่มีประสบการณ์รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกโดยตรง นายอำเภอคลองขลุงและอ.ไทรงาม จ.พิจิตร ซึ่งมีประสบการณ์ในการควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้การจัดการกับไข้หวัดนกที่มีประสิทธิภาพด้วย
แพทย์หญิงศิริพรกล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคนในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี และกำแพงเพชร ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 มกราคม 2550 มีผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดนกและส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ จำนวนทั้งสิ้น 17 ราย ทราบผลการตรวจยืนยันเชื้อแล้ว 14 ราย ไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 (H5N1) เชื้อส่วนใหญ่หรือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ที่พบเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ยังรอผลการตรวจอีก 3 ราย ทั้งนี้ตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกเมื่อพ.ศ. 2547 จนถึงพ.ศ. 2549 ใน 4 จังหวัดพบผู้ป่วยไข้หวัดนก ถึง 3 รายที่กำแพงเพชร พิจิตรและอุทัยธานี และเสียชีวิตทั้งหมด ดังนั้นจึงประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งนิยมเส้นไหว้ด้วยสัตว์ปีก โดยเฉพาะที่ปากน้ำโพ ซึ่งเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ประจำถิ่น เนื่องจากมีพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่กันมาก
ได้ย้ำเตือนให้ทุกจังหวัดเคร่งครัดในกลุ่มที่ประกอบการเลี้ยงเป็ด ไก่ ผู้ที่มีภาระที่ต้องฆ่าสัตว์ปีก และประชาชนที่ต้องชำแหละหรือปรุงอาหารจากสัตว์ปีก ระมัดระวังป้องกันตนเองให้ปลอดภัย ด้วยการใส่ถุงมือ เสื้อคลุม เครื่องป้องกันต่างๆ เมื่อต้องชำแหละสัตว์ปีก และล้างมือ อาบน้ำ เมื่อเสร็จภารกิจ รวมทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์และบริเวณที่ชำแหละ ไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยตายมาชำแหละขายอย่างเด็ดขาด ส่วนประชาชนควรรับประทานอาหารที่ประกอบจากสัตว์ปีกที่ปรุงสุกจริงๆ เพื่อป้องกันเชื้อไข้หวัดนก หรือให้ยึดหลักปลอดภัย คือกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือ และหากอาการมีไข้ ไอ หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ เมื่อไปพบแพทย์ต้องบอกประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วย/ตายในช่วง 7 วัน หรือผู้ป่วยปอดบวม หรืออาศัยในหมู่บ้านที่มีสัตว์ปีกป่วย/ตาย เพราะในอดีตที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยมักจะลืมบอกแพทย์
มกราคม 9/3 ****************************** 31 มกราคม 2550
View 16
31/01/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ