วันนี้(24 พฤษภาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข Dr. Maureen Birminghamผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พร้อมด้วยพิธีกร ดารา และนักร้อง ร่วมกันแถลงข่าว การจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2553 

          นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้การสูบบุหรี่ในไทยมีแนวโน้มให้เห็นชัดเจนว่ามีบางกลุ่มเริ่มมีตัวเลขสูงขึ้น จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2534-2552 พบว่าการสูบบุหรี่ผู้หญิงไทยมีค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับชายไทย ในปี 2534 หญิงไทยสูบบุหรี่ร้อยละ 4.95 หรือประมาณ 950,000 คน และในปี 2552พบร้อยละ 2 หรือประมาณ 540,000 คน ทั้งนี้ระหว่างปี 2534-2549 การสูบมีแนวโน้มลดลง แต่กลับปรับเพิ่มเล็กน้อยในปี 2550 จากร้อยละ 1.94 หรือ 510,000 คน เป็นร้อยละ 2.01 หรือ 540,000 คน ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีนี้ ผู้หญิงสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 คนต่อปี โดยพบว่าผู้หญิงที่เป็นวัยรุ่นสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงทั่วไป คือ หญิงวัยรุ่นสูบบุหรี่ร้อยละ 3.8 ในขณะที่หญิงทั่วไปสูบบุหรี่เฉลี่ยร้อยละ 2.01 ดังนั้นจึงเป็นที่มาของธุรกิจยาสูบที่หันมามุ่งเน้นตลาดวัยรุ่น เยาวชนหญิง
                                            
          นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นในการรณรงค์ว่า Gender and tobacco with an emphasis on marketing to womenหรือ “หญิงไทยฉลาด ไม่เป็นทาสตลาดบุหรี่” โดยกำหนดการจัดงานรณรงค์เนื่องในงานวันงดสูบบุหรี่โลก วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 เวลา 11.00-19.00 น. ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า แจ้งวัฒนะ มีกิจกรรมการมอบรางวัล World No Tobacco Day Awards 2010 และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับบุคคล/หน่วยงานต่างๆที่มีบทบาทในการควบคุมบริโภคยาสูบ มีการจัดนิทรรศการและให้คำปรึกษาในการเลิกบุหรี่
          นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ความคืบหน้าการดำเนินการควบคุมยาสูบในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มีแผนยุทธศาสตร์การควบคุมบริโภคยาสูบมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1. ลดปริมาณจำนวนผู้สูบบุหรี่ 2. ลดจำนวนการบริโภคยาสูบต่อคน 3. สร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากควันบุหรี่ทั้งนี้ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 จะมีผลในวันที่ 18 มิถุนายน 2553 โดยได้กำหนดพื้นที่ที่ปลอดควันบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ 5 ประเภท ได้แก่ 1. สถานบริการสาธารณสุขและส่งเสริมสุขภาพ 2. สถานศึกษา 3. สถานที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน 4. ยานพาหนะและสถานีขนส่งสาธารณะ 5. ศาสนสถาน สถานปฏิบัติธรรม นอกจากนั้นเป็นพื้นที่ที่ยกเว้นให้สูบได้เฉพาะนอกอาคาร เช่น ปั้มน้ำมัน สถานที่ราชการ และสถานที่ที่ให้สูบได้
*************************       24   พฤษภาคม   2553


   
   


View 11       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ