พร้อมเปิดคอลเซ็นเตอร์ สอบถามรายชื่อผู้บาดเจ็บผู้เสียชีวิต 24 ชั่วโมง ทางเว็บไซต์และโทรศัพท์ วันนี้

(11 เมษายน 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินระดับชาติ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ว่า ในเบื้องต้นได้รับรายงานจากศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ จนถึงขณะนี้มีผู้บาดเจ็บ 842 คน เป็นพลเรือน 569 คน ทหาร 265 นาย และตำรวจ 8 นาย เสียชีวิต 20 คน เป็นพลเรือน 15 คน ทหาร 5 นาย หากสถานการณ์นิ่งตัวเลขจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะชัดเจนมากขึ้น โดยทหารที่เสียชีวิต 5 นาย จากถูกระเบิด 1 นาย อีก 4 นายถูกยิง ส่วนผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ เกิดจากถูกกระสุนปืน ระเบิด และถูกของแข็งกระแทก

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินระดับชาติ ได้กำชับไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งที่รับตัวผู้บาดเจ็บไว้ ขอให้ดูแลรักษาผู้บาดเจ็บทุกรายอย่างดี โดยไม่เลือกปฏิบัติ ประชาชนสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้ทางเว็บไซต์ สถาบันการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ www.niems.go.th/pf และทางเว็บไซต์ของศูนย์เอราวัณ www.bangkok.go.th หรือสอบถามทางโทรศัพท์ของศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ ของกระทรวงสาธารณสุข หมายเลข 0 2591 9767 และ 08 7500 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งได้กำชับกรมสุขภาพจิต ให้บริการดูแลสุขภาพจิตประชาชนอย่างเต็มที่ โดยหากประชาชนมีความเครียดหรือวิตกกังวลสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตได้ที่ หมายเลข 1323

สำหรับศพผู้เสียชีวิตทั้งหมดจะต้องผ่านการชัณสูตรพลิกศพตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากเป็นการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ หลังจากนั้นญาติจึงสามารถรับศพไปทำพิธีทางศาสนาได้ ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดบริการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุม กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมพร้อมเต็มที่และปรับปรุงรายละเอียดของแผนเพิ่มเติม เช่น ระบบการคัดแยกผู้บาดเจ็บที่มีอาการสาหัสหรือร้ายแรงให้นำส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้สุด เพื่อให้ผู้บาดเจ็บได้รับการรักษาอย่างเต็มที่และทันท่วงที ลดการเสียชีวิต

ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้ ได้ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ เพื่อติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งได้เตรียมแผนขั้นสูงสุดรับมือ พบว่า การปฏิบัติงานระหว่างศูนย์เอราวัณและศูนย์นเรนทรเป็นไปด้วยดี แต่มีบางจุดที่จะต้องเสริมมาตรการเพิ่ม เช่น การสำรองเวชภัณฑ์แก่หน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลผู้บาดเจ็บ โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดศูนย์สำรองไว้ที่รพ.สงฆ์ซึ่งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ ระบบการสื่อสารระหว่างหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินกับศูนย์บัญชาการ โดยผู้บาดเจ็บทั้งหมดกระทรวงสาธารณสุขจะให้การดูแลรักษาฟรี ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วงแต่อย่างใด

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้บาดเจ็บที่นอนรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่างๆ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนให้ผู้บริหารระดับสูงออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้บาดเจ็บ ญาติ และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการด้วย นอกจากนี้ ยังได้วางแผนกระจายผู้บาดเจ็บที่อาการไม่รุนแรงไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆในจังหวัดใกล้เคียงเพื่อให้โรงพยาบาลใน กทม.สามารถรับผู้บาดเจ็บที่มีอาการหนักหรือสาหัสได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ ผู้บาดเจ็บทั้งหมดทีมกู้ชีพฉุกเฉินได้ให้การช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาลทั้งหมด 19 แห่ง ประกอบด้วย รพ.พระมงกุฎเกล้า 229 คน รพ.วชิระ 160 คน รพ.กลาง 140 คน รพ.ตากสิน 62 คน รพ.หัวเฉียว 59 คน รพ.ศิริราช 44 คน รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า 39 คน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ 18 คน รพ.เลิดสิน 8 คน รพ.ราชวิถี รพ.ตำรวจ และรพ.จุฬาลงกรณ์ แห่งละ 7 คน รพ.มิชชั่น 3 คน รพ.ภูมิพล รพ.วิชัยยุทธ (เหนือ) รพ.ศรีวิชัย 1 และรพ.บีเอ็นเอช แห่งละ 1 คน

***************************************** 11 เมษายน 2553



   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ