กระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข บังคับใช้สิทธิบัตรยาคาเล็ตตรา รักษาโรคเอดส์ที่ดื้อยาสูตรพื้นฐาน และยาพลาวิกซ์ ละลายลิ่มเลือดรักษาโรคหลอดเลือดอุดตันหัวใจและสมอง เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยไทยในระบบประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง มิได้หวังผลกำไร เพื่อให้คนป่วยได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพดี มีชีวิตยืนยาว โดยยาคาเล็ตตรานั้นมีผล 5 ปี ส่วนพลาวิกซ์จะใช้จนกว่าหมดความจำเป็น
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) ยารักษาโรคเอดส์ชนิดดื้อยาและยาละลายลิ่มเลือดอุดตัน ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อบังคับใช้ยาพลาวิกซ์ (Plavix) หรือยาโคลพิเกรล (Clopidogrel) รักษาโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจและสมอง โดยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2550 และยาคาเล็ตตรา (Kaletra) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์ (Lopinavir) กับริโทนาเวียร์ (Ritonavir) เพื่อใช้รักษาโรคเอดส์ในผู้ป่วยที่ดื้อยาสูตรพื้นฐาน โดยนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ลงนามในประกาศกรมควบคุมโรคไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2550
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า การบังคับใช้สิทธิบัตรยา 2 ตัวนี้ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 วัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาสาธารณสุข ซึ่งเป็นภัยคุกคามสุขภาพของประชาชนไทย มิใช่หวังผลการค้ากำไรแต่อย่างไร เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ประมาณว่ามีคนไทยติดเชื้อเอดส์แล้ว 1 ล้านกว่าคน และยังมีชีวิตยู่ 500,000 กว่าคน ซึ่งในระยะยาวจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสเพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างปกติ โดยรัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบายให้ผู้ติดเชื้อที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส สามารถเข้าถึงยาได้ทุกคน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นมา ในปี 2550 นี้มีงบประมาณดูแลผู้ติดเชื้อเพียง 3,855.6 ล้านบาท ซึ่งจัดยาต้านไวรัสให้ผู้ป่วยได้เพียง 108,000 คนเท่านั้น เนื่องจากยามีราคาแพง
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิบัตรยาทั้ง 2 ตัวนี้ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับทราบโดยเร็วต่อไป ขอให้บริษัทเห็นใจประเทศไทย ที่มีงบประมาณจำกัด และต้องการให้ประชาชนได้รับบริการยาที่ดีมีคุณภาพ มีผลข้างเคียงไม่มาก สามารถรักษาโดยไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่หากทำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะให้บริการประชาชนได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จึงจำเป็นต้องประกาศการบังคับใช้สิทธิบัตรยา ซึ่งจะทำให้ยาราคาถูกลง และเป็นทางเลือกเพียงทางเดียวที่จะทำให้ได้ยาราคาถูกลง
การจะบังคับใช้สิทธิบัตรยาตัวใดนั้น ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของประเทศ และการบังคับใช้สิทธิบัตรของไทยครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเอาเปรียบ เป็นไปตามปฏิญญาโดฮาที่ว่าด้วยความตกลงทริปส์กับการสาธารณสุข ระบุไว้ว่าประเทศสมาชิกมีสิทธิที่จะปกป้องการสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้า ด้วยการบังคับใช้สิทธิตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยรัฐบาลไม่ต้องเจรจากับเจ้าของสิทธิบัตรก่อน สำหรับยาตัวอื่นๆ หากตัวใดที่จำเป็นสำหรับการรักษาชีวิตของผู้ป่วย บริษัทยาสามารถลดราคาลงได้ ก็ขอให้ลดราคาก่อนก็จะเป็นการดี ก่อนที่จะใช้มาตรการบังคับใช้ เป็นการพบกันครึ่งทาง หากว่าสามารถตกลงกันได้ในราคาที่เราสามารถซื้อยาต้นแบบดั้งเดิมมาได้ไม่แพงกว่าที่อื่น เราก็ยินดีที่จะซื้อนายแพทย์มงคลกล่าว
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยาพลาวิกซ์ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงของโรคเส้นเลือดอุดตัน ทั้งในหัวใจและในสมอง รวมทั้งยังใช้ในการสอดฝังขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือดหัวใจ ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน แต่ยานี้มีราคาแพงมาก ยากต่อการเข้าถึง เนื่องจากมีสิทธิบัตรคุ้มครองเช่นเดียวกับยาคาเล็ตรา ขณะนี้สถิติการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจพบแสนละ 350 คน หรือประมาณ 200,000 กว่าคน เฉพาะผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียว มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้สูงถึงเกือบ 21 ล้านเม็ด ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น
ฉะนั้น หากเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในตลาด โดยการนำเข้ายาชื่อสามัญหรือผลิตยาชื่อสามัญขึ้นเองในประเทศ จะทำให้ราคายาถูกลงมาก จากราคาเดิมเม็ดละ 70 กว่าบาท จะเหลือเพียงเม็ดละ 6 บาทกว่าๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเพิ่มขึ้น 6-12 เท่าตัว และรอดชีวิตจากโรคหัวใจได้อีกเป็นจำนวนมาก ช่วยให้นโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนไทยเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมอบให้องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ใช้สิทธิการผลิตยาชื่อสามัญ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2550 เป็นต้นไป จนกว่าจะหมดระยะเวลาของสิทธิบัตรหรือหมดความจำเป็น และยาดังกล่าวนี้จะให้บริการผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ไม่จำกัดจำนวน โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่ายาคาเล็ตตรา จัดเป็นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยที่ดื้อยาสูตรพื้นฐาน แต่มีสิทธิบัตรคุ้มครองทำให้องค์การเภสัชกรรมหรือผู้ผลิตรายอื่น ไม่สามารถผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายได้ ทำให้ราคายาในประเทศไทยมีราคาสูงกว่าประเทศอื่น ยาดังกล่าวราคา 6,000 บาทต่อคนต่อเดือน แต่หากนำมารวมเป็นสูตรผสมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่นจะตกเดือนละ 10,000 กว่าบาทต่อคน ซึ่งการใช้สิทธิบัตรนี้จะทำให้ยาราคาถูกลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำให้ผู้ป่วยที่ดื้อยาสูตรพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 20,000 กว่าคนได้เข้าถึงยาทุกคน ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2555 ยาดังกล่าวจะมีเฉพาะในสถานบริการสาธารณสุขเท่านั้น ไม่มีขายในร้านขายยาทั่วไป
******************************** 29 มกราคม 2550
View 16
29/01/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ